มิติหุ้น-ก.ล.ต. เปิดเผยการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดรวม 11 ราย ด้วยมาตรการลงโทษทางแพ่งกรณีใช้ข้อมูลภายใน ขายหลักทรัพย์บริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) (EARTH) ได้แก่ (1) นายขจรพงศ์ คำดี (2) นายพิสุทธิ์ พิหเคนทร์ (3) นายพิพรรธ พิหเคนทร์ (4) นางธัญกมล ตริตระการ (5) นางธนภร พงศ์ธิติ (6) นายพิริยะ พิหเคนทร์ (7) นายพัชวัฏ คุณชยางกูร (8) นายจิตตเกษม คุณชยางกูร (9) นายเกษมสัณห์ คุณชยางกูร (10) นางลักขณา จันทร์เต็ม และ (11) นางสาวสุภาภรณ์ สายคำ
ก.ล.ต. ได้รับข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 (1) นายขจรพงศ์ คำดี ในฐานะประธานกรรมการบริหารและกรรมการของ EARTH ได้เข้าพบธนาคารเจ้าหนี้เพื่อขอเลื่อนชำระหนี้เนื่องจากEARTH กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง อย่างไรก็ดี การขอเลื่อนชำระหนี้ได้รับการปฏิเสธ จึงคาดการณ์ได้ว่า EARTH จะผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินและหนี้อื่น ๆ ซึ่งนายขจรพงศ์ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้ (2) นายพิสุทธิ์ พิหเคนทร์ และ (3) นายพิพรรธ พิหเคนทร์ ซึ่งขณะนั้นเป็นประธานกรรมการ และกรรมการของ EARTH ตามลำดับ
ต่อมาในช่วงวันที่ 16 พฤษภาคม – 7 มิถุนายน 2560 (1) นายขจรพงศ์และ (2) นายพิสุทธิ์ ใช้ประโยชน์จากข้อมูลภายในข้างต้นขายหุ้น EARTH จำนวน 33.34 ล้านหุ้น และ EARTH-W4 จำนวน 72.12 ล้านหน่วย มูลค่า 88.80 ล้านบาท เพื่อหลีกเลี่ยงผลขาดทุนอันเกิดการลดลงของราคาหลักทรัพย์จากปัญหาการขาดสภาพคล่องดังกล่าว
โดยขายหุ้นผ่านบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคล 4 ราย ในลำดับที่ (8) – (11) ได้แก่ (8) นายจิตตเกษม คุณชยางกูร (9) นายเกษมสัณห์ คุณชยางกูร (10) นางลักขณา จันทร์เต็ม และ (11) นางสาวสุภาภรณ์ สายคำ โดยมี (7) นายพัชวัฏ คุณชยางกูร ช่วยเหลือดำเนินธุรกรรมทางการเงินและจัดหาบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลทั้ง 4 รายดังกล่าว
ในวันที่ 2 มิถุนายน 2560 (3) นายพิพรรธ ซึ่งรู้ข้อมูลภายในดังกล่าวได้ยินยอมให้บริษัทหลักทรัพย์ขายหุ้น EARTH ในบัญชีของตนเอง เพื่อชำระหนี้ในบัญชีเงินกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ของบุคคลอื่น จำนวน 2.34 ล้านหุ้น รวมมูลค่า 5.19 ล้านบาท
ในช่วงวันที่ 22 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2560 (4) นางธัญกมล ตริตระการ ขณะเป็นกรรมการของ EARTH รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามบทสันนิษฐานตามกฎหมาย ได้ขายหุ้น EARTH และ EARTH-W4 ออกจนหมดบัญชี จำนวน 7.94 ล้านบาท และ 2.89 ล้านหน่วย ตามลำดับมูลค่ารวม 18.29 ล้านบาท
ในวันที่ 22 และ 31 พฤษภาคม 2560 (5) นางธนภร พงศ์ธิติ ซึ่งเป็นน้องสาวของนายพิสุทธิ์ มีพฤติกรรมการขายหุ้นที่ผิดไปจากปกติวิสัย จากเดิมที่มีลักษณะการถือครองระยะยาว โดยนางธนภรรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามบทสันนิษฐานตามกฎหมาย ได้ขายหุ้นEARTH ออกจนหมดบัญชี จำนวน 13.96 ล้านหุ้น มูลค่า 32.12 ล้านบาท
นอกจากนี้ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2560 (6) นายพิริยะ พิหเคนทร์ ซึ่งเป็นน้องชายของนายพิสุทธิ์ มีพฤติกรรมการซื้อขายหุ้นที่ผิดไปจากปกติวิสัย จากเดิมที่มีลักษณะการถือครองระยะยาว โดยนายพิริยะรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในตามบทสันนิษฐานตามกฎหมาย ได้ขายหุ้น EARTH ออกจนเกือบหมดบัญชี จำนวน 9.2 ล้านหุ้น มูลค่า 19.44 ล้านบาท
การกระทำของบุคคลทั้ง 11 รายข้างต้น ซึ่งเป็นบุคคลที่รู้หรือครอบครองข้อมูลภายในและขายหุ้น EARTH ในระหว่างที่ข้อมูลภายในยังไม่ถูกเปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไป เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 242 มาตรา 243 มาตรา 244 และมาตรา 315 อันมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 296 และมาตรา 296/2 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2559 คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) มีมติให้ ก.ล.ต. นำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับกับบุคคลทั้ง 11 ราย โดยมีรายละเอียดดังนี้
ก. บุคคลลำดับที่ (1) ขจรพงศ์ และ (2) นายพิสุทธิ์ กำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด เป็นเงินรายละ 42,458,636.59 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามบุคคลทั้งสองเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 4 ปี
ข. บุคคลลำดับที่ (3) นายพิพรรธ กำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด รวมเป็นเงิน 3,873,870 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 1 ปี
ค. บุคคลลำดับที่ (4) นางธัญกมล กำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด รวมเป็นเงิน 13,998,516.61 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 2 ปี
ง. บุคคลลำดับที่ (5) นางธนภร กำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด รวมเป็นเงิน 25,526,154.50 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 3 ปี
จ. บุคคลลำดับที่ (6) นายพิริยะ กำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง และส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด รวมเป็นเงิน 13,123,600 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 2 ปี
ฉ. บุคคลลำดับที่ (7) นายพัชวัฏ กำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง เป็นเงิน 500,000 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 4 ปี
ช. บุคคลลำดับที่ (8) – (11) นายจิตตเกษม นายเกษมสัณห์ นางลักขณา และนางสาวสุภาภรณ์ กำหนดให้ชำระเงินค่าปรับทางแพ่ง เป็นเงิน รายละ 500,000 บาท และกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลารายละ 1 ปี
นอกจากนี้ ผู้กระทำผิดทั้ง 11 ราย ต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดให้แก่ ก.ล.ต. จำนวนรายละ 18,900.45 บาท อีกด้วย และการกำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์จะมีผลนับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกการยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษ
ทางแพ่ง
ทั้งนี้ หากผู้กระทำผิดทั้ง 11 รายไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่งที่ ค.ม.พ. กำหนด ก.ล.ต. จะมีหนังสือขอให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ชำระค่าปรับทางแพ่งตามอัตราสูงสุดที่กฎหมายกำหนด กำหนดระยะเวลาห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลาสูงสุดที่กฎหมายกำหนด ส่งคืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำความผิด และชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิดแก่ ก.ล.ต.
สำหรับกรณีที่มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับการสร้างหนี้เทียมเพื่อนำ EARTH เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และเรื่องร้องเรียนอื่น ๆ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำของบุคคลใดที่เกี่ยวข้องเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ที่มา: ฝ่ายสื่อสารองค์กรและส่งเสริมความรู้ผู้ลงทุน สำนักงาน(ก.ล.ต.)
www.mitihoon.com