ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า การประมูลปิโตเลียมแหล่งบงกชG2/61 และเอราวัณ G1/61 โดยนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า มีผู้ประกอบการมายื่นคำขอประมูลในฐานะเป็นผู้ดำเนินการสำรวจและผลิต 2 ราย โดยในแหล่งบงกช บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP ยื่นประมูลรายเดียว แหล่งเอราวัณ PTTEP ยื่นประมูลร่วมกับบริษัท MP G2 (Thailand) บริษัทย่อยของมูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) โดย PTTEP มีสัดส่วนถือหุ้น 60% มูบาดาลา 40%
ขณะรายที่ 2 บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด ยื่นคำขอประมูลในฐานะเป็นผู้ดำเนินการสำรวจและผลิตทั้ง 2 แหล่งโดยร่วมกับบริษัท มิตซุยออยล์ เอ็กซ์โปลเรชั่น คัมปานี ลิมิเต็ด โดยเชฟรอนฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 74% มิตซุยฯ ถือหุ้น 26%
ทั้งนี้ทั้ง 2 แปลงนั้นรัฐกำหนดให้ยื่นเอกสาร 4 ซอง ประกอบด้วย 1.เอกสารด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรเลียมตามกฎหมาย 2.เอกสารข้อเสนอด้านหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุน 3.เอกสารข้อเสนอด้านเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนงานช่วงเตรียมงาน แผนงานสำรวจ และแผนพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม 4.เอกสารข้อเสนอด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐและสัดส่วนการจ้างพนักงานไทย อย่างไรก็ตามในวันที่ 26 ก.ย.61 นั้นจะเปิดซองประมูลก่อนในซองที่1-2-3 พิจารณาคุณสมบัติ หลังนั้นเปิดซองที่4 ในวันถัดไป และคาดว่าจะสามารถเสนอรายชื่อผู้ชนะการประมูลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณาได้เดือน ธ.ค.61
ด้านนายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP เปิดเผยว่า PTTEP มั่นใจว่าจะเป็นผู้ชนะประมูลทั้ง 2 แปลง ทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณ ซึ่งในส่วนของแหล่งบงกชนั้น ปตท.สผ. จะยื่นประมูลเอง สำหรับแหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ. เข้าร่วมประมูลกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด เนื่องจากเป็นผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพ และมีการลงทุนในแหล่งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยอยู่แล้ว จึงมีความเข้าใจพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างดี
“เราเชื่อมั่นว่าองค์ความรู้ ประสบการณ์และความชำนาญในการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งบงกชตลอดระยะเวลา 25 ปี ทำให้เรายื่นข้อเสนอในการประมูลที่จะสามารถสร้างความต่อเนื่องในการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่แข่งขันได้ และสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้มากกว่า เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาว” นายสมพร กล่าว
นายสมพร กล่าวว่า ในสัดส่วนการร่วมลงทุนของรัฐ PTTEP มีคุณสมบัติที่จะสามารถร่วมลงทุนได้ในสัดส่วน 25% ในแต่ละแปลง เนื่องจาก PTTEP ถือเป็นหน่วยงานของรัฐแต่ก็ขึ้นอยู่การพิจารณาของกระทรวงพลังงาน ซึ่งต้องรอหลังจากประมูลแล้วเมื่อทราบผล
ด้านนายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ยื่นประมูลในนามบริษัท บริษัท เชฟรอน ไทยแลนด์ โฮลดิ้งส์ จำกัด กล่าวว่า ยื่นซองประมูลทั้งบงกช และเอาาวัณ เป็นลักษณะของการร่วมทุนทั้ง 2 แหล่ง ซึ่งการที่ตัดสินใจยื่นประมูลทั้ง 2 แหล่งเพราะมั่นใจในศักยภาพ และความรู้ความเข้าใจด้านสภาพธรณีวิทยา เทคโนโลยีที่สามารถพัฒนาได้ทั้ง 2 แหล่ง จึงมั่นใจว่าจะได้รับเลือกเป็นผู้ชนะการประมูลครั้งนี้
www.mitihoon.com