บีไอจีเดินหน้าเปิดโรงงานผลิตก๊าซไฮโดรเจนแห่งที่ 2 นิคมฯมาบตาพุด จ.ระยอง ทุ่มงบกว่า 500 ลบ. พร้อมพัฒนานวัตกรรมจากก๊าซไฮโดรเจน ด้วยกำลังการผลิต 12,000 ตันต่อปีตอกย้ำการเป็นผู้นำในการผลิตก๊าซไฮโดรเจนรายใหญ่ที่สุดในไทย รองรับการขยายตัวภาคอุตสาหกรรม กลุ่มปิโตรเคมี-โรงกลั่นน้ำมันในพื้นที่อีอีซีพร้อมสนองนโยบายรัฐในการส่งเสริมใช้เทคโนโลยีจากไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงทดแทนในรถยนต์
นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือบีไอจี ผู้นำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมครบวงจรของประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้บริษัทฯ ได้เริ่มแผนการดำเนินงานก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซไฮโดรเจนแห่งที่ 2 (หนองแฟบ) โดยได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสร้างโรงงานด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานความปลอดภัยจากประเทศสหรัฐฯ โดยมีกำลังการผลิตไฮโดรเจนถึง 12,000 ตันต่อปี เพื่อเป็นฐานการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งของประเทศ รองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และโรงกลั่นในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตในโรงงานโพรพิลีนออกไซด์ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตโพลีออลส์ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี(บริษัทปิโตรเคมีแฟลกชิปในเครือปตท.)คาดว่าจะเปิดดำเนินได้ในปี 2562
ทั้งนี้ขีดความสามารถการผลิตของโรงงานผลิตก๊าซไฮโดรเจนแห่งนี้ นอกจากใช้ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและโรงกลั่นแล้วยังสามารถขยายตลาดไปสู่อุตสาหกรรมด้านพลังงานเพื่อใช้กับรถยนต์ เนื่องจากปัจจุบันไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงที่มีการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของค่ายรถยนต์ทั้งในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำให้ตลาดพลังงานไฮโดรเจนจะเป็นเชื้อเพลิงแห่งอนาคตที่ไม่สร้างมลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม
สำหรับแผนการดำเนินการก่อสร้างของโรงงานแห่งนี้ คาดว่าจะดำเนินการในเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 4 ของปี 2562 เป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านในการผลิตก๊าซไฮโดรเจนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยของบีไอจีที่สามารถผลิตและจำหน่ายในได้อย่างครบวงจร โดยได้นำเทคโนโลยีและระบบการจัดจำหน่ายก๊าซไฮโดรเจนผ่านระบบโครงข่ายท่อ เพื่อส่งตรงไปยังกลุ่มลูกค้าทั้งกลุ่มปิโตรเคมีและกลุ่มโรงกลั่นที่มีความต้องการใช้ก๊าซไฮโดรเจนในกระบวนการผลิต ด้วยคุณภาพและความต่อเนื่องของปริมาณก๊าซไฮโดรเจนที่เข้าสู่ระบบเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งในด้านของต้นทุน และผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมก๊าซไฮโดรเจนยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ5-10% จากความต้องการใช้ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ รวมถึงการใช้เป็นพลังงานทางเลือกแห่งอนาคต ที่นอกจากการนำไปเป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถพัฒนาไปสู่เป็นเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบไฮโดรเจน(Hydrogen Energy Storage) ได้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันเป็นเทคโนโลยีที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทั่วโลก
www.mitihoon.com