TMB หวังขึ้นแท่นผู้นำกองทุนรวม ผนึก “อีสท์ปริง” ยกระดับผลิตภัณฑ์  ไตรมาส3/61 กำไรพุ่ง 179% หนุน 9 เดือน โกยทะลัก 9.9 พันลบ.

262

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เดินหน้าการเป็นผู้นำธุรกิจกองทุนรวม จากการเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับอีสท์สปริง โดยนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า จากการขายหุ้นในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทหารไทย หรือ TMBAM จำนวน 65% ให้กับบริษัท พรูเด็นเชียล คอร์ปอเรชั่น เอเชีย จำกัด เพื่อเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจกับอีสท์สปริง อินเวสต์เมนทส์ (สิงคโปร์) นั้น ธนาคารต้องการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้กับลูกค้าโดยไม่ยึดติดกับการธนาคารในรูปแบบเดิมๆ

โดยมั่นใจว่าการจับมือกับอีสท์สปริงจะส่งผลดีต่อลูกค้าทั้งของ TMB และ TMBAM เนื่องจากอีสท์สปริงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสินทรัพย์ในระดับโลกและในหลายมิติของการลงทุน ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพของบลจ.ทหารไทย และตอกย้ำกลยุทธ์การให้บริการด้านกองทุนรวม หรือ ‘TMB Open Architecture’ ของทีเอ็มบี โดยลูกค้าของธนาคารจะได้รับบริการด้านการลงทุนจากผู้เชี่ยวชาญในระดับโลก และสามารถเข้าถึงกองทุนรวมชั้นนำจากต่างประเทศที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้ลูกค้า ‘Get More’ หรือ ‘ได้มากกว่า

ทั้งนี้ ทีเอ็มบีให้บริการ ‘TMB Open Architecture’ ให้แก่ลูกค้าทุกกลุ่มมาเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว โดยคัดสรรผลิตภัณฑ์กองทุนรวมคุณภาพจากบลจ.ชั้นนำ ทั้งยังขยายความร่วมมือเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคม บลจ.กรุงไทย เป็นบลจ.ล่าสุดที่เข้าร่วม TMB Open Architecture ทำให้ปัจจุบันลูกค้าสามารถเลือกลงทุนได้กับ 9 บลจ. ชั้นนำ

สำหรับผลประกอบการงวด 9 เดือน ปี 2561 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ (PPOP) อยู่ที่ 26,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลการดำเนินงานหลักยังคงทรงตัว ขณะที่มีการรับรู้กำไรจำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทจากการขายหุ้น TMBAM ซึ่งจาก PPOP ที่สูงขึ้น ธนาคารจึงดำเนินการตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้นจากระดับปกติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ IFRS 9 และเพื่อดูแลคุณภาพสินทรัพย์ ทำให้อัตราส่วนสำรองฯ ต่อหนี้เสีย (Coverage ratio) สูงขึ้นเป็น 157% จาก 143% เมื่อสิ้นปีที่แล้ว ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 9,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน

ด้านตัวเลขสินเชื่อช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้น 3.3% มาอยู่ที่ 6.46 แสนล้านบาท ตามการเติบโตของสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อย โดยเฉพาะจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น 13% หรือ 1.8 หมื่นล้านบาท โดยการขยายสินเชื่อบ้านเป็นไปอย่างรอบคอบ และเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ประจำ และวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 ล้านบาท ในส่วนของลูกค้าธุรกิจ สินเชื่อลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงเติบโตได้ดีที่ 4% หรือ 9 พันล้านบาท ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็กยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป เป็นผลมาจากการดำเนินการปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวังของธนาคาร

ขณะที่ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย หรือ NIM อยู่ที่ 2.96% ลดลงจาก 3.16% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 2% มาอยู่ที่ 18,263 ล้านบาท และแม้รายได้ค่าธรรมเนียมชะลอลง 4% แต่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 127% มาอยู่ที่ 20,929 ล้านบาท เนื่องจากในไตรมาส 3/2561 มีการบันทึกกำไร 1.2 หมื่นล้านบาท จากการขายหุ้น TMBAM

www.mitihoon.com