ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC โดยนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กรณีที่มีมติไม่อนุมัติการเข้าซื้อหุ้นบมจ.โกลว์ พลังงาน หรือ GLOW เพื่อรักษาสิทธิผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ขณะที่ยังมองเห็นถึงความสำคัญในการซื้อกิจการดังกล่าวซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศและภาคอุตสาหกรรม
หลังจากนี้บริษัทจะหารือรายละเอียดถึงการทำหนังสือเพื่อยื่นอุทธรณ์ โดยเบื้องต้นจะชี้แจงถึงกระบวนการเข้าซื้อกิจการซึ่งเป็นไปอย่างถูกต้องตามระเบียบ และอาจชี้แจงถึงแนวทางปฎิบัติในการดูแลลูกค้าทุกรายของกลุ่ม GLOW ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้หารือกับลูกค้าทุกรายอย่างต่อเนื่อง เพราะบริษัทในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจบริการก็ต้องดำเนินการเพื่อให้ลูกค้าทุกกลุ่ม หรือผู้มีส่วนได้เสียมีความสบายใจ บริษัทก็พร้อมจะดำเนินการให้ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ดำเนินการต่อเนื่อง
ส่วนการยื่นอุทธรณ์ครั้งนี้อาจทำให้ระยะเวลาในการซื้อกิจการ GLOW ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์เดิมนั้นก็ไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะเป็นเงื่อนไขข้อตกลงเดิมที่ได้ทำไว้กับกลุ่ม Engie Global Development B.V. (Engie) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GLOW และไม่ได้เป็นปัญหาต่อสัญญาการกู้เงินเพื่อรองรับการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เพราะเราได้หารือกับทุกฝ่ายให้เข้าใจสถานการณ์แล้ว
ส่วนกรณีที่หากกกพ.ยกคำอุทธรณ์ดังกล่าว บริษัทจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น นายชวลิต กล่าวว่า ยังเร็วเกินไปที่จะตอบประเด็นนี้เพราะจะต้องพิจารณาเป็นขั้นตอนไป แต่เบื้องต้นการพิจารณาคำอุทธรณ์ของกกพ.ไม่ได้มีระเบียบกำหนดเวลาที่แน่นอน แต่คาดว่าไม่น่าจะช้ากว่า 30 วันซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติตามขั้นตอนราชการทั่วไป
อนึ่ง GPSC มีแผนซื้อกิจการ GLOW ด้วยมูลค่าราว 1.4 แสนล้านบาท โดยจะเป็นการซื้อหุ้นจากกลุ่ม Engie ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น GLOW สัดส่วน 69.11% วงเงินรวม 9.59 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ต.ค. หากได้รับอนุมัติจาก กกพ. หลังจากนั้นจะทำคำเสนอซื้อหุ้น GLOW ส่วนที่เหลือต่อไป โดยภายหลังการเข้าซื้อกิจการ GLOW จะทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มเพิ่มเป็นราว 5 พันเมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 6.9% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศ
แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กกพ.มีมติเอกฉันท์ไม่อนุมัติคำขอเพื่อรวมกิจการของ GPSC โดยการเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ใน GLOW เนื่องจากจะส่งผลต่อการลดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพราะการรวมกิจการครั้งนี้จะส่งผลให้พื้นที่อุตสาหกรรมในบางพื้นที่ จะมีบริษัทที่มีอำนาจการบริหารกิจการไฟฟ้าลดลงเหลือเพียงรายเดียว จึงเป็นการลดการแข่งขัน ขณะที่การให้บริการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็ไม่สามารถทดแทนการให้บริการของลูกค้ากลุ่ม GLOW ได้ เนื่องจากเหตุผลทางคุณภาพ
www.mitihoon.com