“ไทยออยล์” คาดราคาน้ำมันเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ  78 – 83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

204

“ไทยออยล์” คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ  67 – 72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ  78 – 83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (22 – 26 ต.ค. 61)

 

ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดัน หลังอุปทานมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ โดยท่อขนส่งน้ำมันดิบ Sunrise ที่มีกำลังการขนส่งกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวัน มีแนวโน้มที่จะเริ่มดำเนินการได้ภายในต้นเดือน พ.ย. 61 ส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการผลิตก่อนหน้าการดำเนินการของท่อขนส่ง ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน นอกจากนี้  สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั้งในปีนี้และปีหน้าลง จากผลการทบของสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประกอบกับ ตลาดเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านคาดจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยกำหนดการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ใกล้เข้ามาแล้ว ส่งผลให้หลายประเทศหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านล่วงหน้า

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เริ่มปรับเพิ่มการขุดเจาะขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์ เนื่องจากกำลังการขนส่งของท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตมายังแหล่งจ่ายน้ำมันดิบคุชชิ่งในสหรัฐฯ คาดจะเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ย. นี้ ส่งผลให้ข้อจำกัดในเรื่องของการขนส่งน้ำมันดิบลดลง โดย Baker Hughes รายงาน จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 8 แท่นจากสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้ล่าสุด สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) คาดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) ในเดือน พ.ย. จะปรับเพิ่มขึ้นกว่า 98,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้าขึ้นมาอยู่ที่ราว 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยแหล่งผลิต Permian
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน จากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นและปริมาณการผลิตน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตในบริเวณอ่าวเม็กซิโกเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตแล้วบางส่วน ประกอบกับ ปริมาณการผลิตจากแหล่ง Permian ที่คาดจะเพิ่มขึ้น โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 12 ต.ค. 61 ปรับเพิ่มขึ้นถึง 6.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 416.4 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นที่ราว 2.2 ล้านบาร์เรล
  • ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังเศรษฐกิจโลกคาดจะเจริญเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก โดยล่าสุด IEA ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั้งในปีนี้และปีหน้าลงกว่า 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ในรายงานฉบับก่อนหน้า สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าที่ IMF คาดจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 0.2 จากการคาดการณ์ครั้งก่อน เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เริ่มส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจ รวมถึงตลาดการเงินที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • ตลาดน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มจะตึงตัวมากขึ้น หลังปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดจากสำนักข่าวรอยเตอร์สพบว่า ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน ต.ค. คาดจะปรับลดลงอยู่ที่ราว 3 – 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับลดลงค่อนข้างมากหากเทียบกับระดับการส่งออกก่อนถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรในเดือน เม.ย. ที่ราว 2.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยจีน อินเดีย ตุรกี และอิตาลี ยังคงนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ในขณะที่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยุโรป และประเทศอื่นๆ ได้หยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านก่อนที่จะถึงวันกำหนดการคว่ำบาตรในวันที่ 4 พ.ย. 61 นี้
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการสหรัฐฯ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ และ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการยุโรป

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 – 19 ต.ค. 61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 2.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 77.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 6.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2.2 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 1.8 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่ปรับลดลง รวมถึง ความตึงเครียดในตลาดน้ำมันที่เพิ่มมากขึ้น หลังความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบียทวีความตึงเตรียดขึ้น จากการหายตัวไปของผู้สื่อข่าวชาวซาอุฯ ที่มักจะวิจารณ์นโยบายของภาครัฐฯ ส่งผลให้ตลาดกังวลว่า หากสหรัฐฯ กดดันซาอุฯ อาจส่งผลให้ซาอุฯ ปรับลดกำลังการผลิตเพื่อเป็นการตอบโต้ได้

www.mitihoon.com