มิติหุ้น – ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.50-32.85 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.60 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทย 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตรสุทธิ 1.4 พันล้านบาท
ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินส่วนใหญ่ ด้วยแรงหนุนจากรายงานการประชุมรอบล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งระบุว่าผู้ดำเนินนโยบายเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประธานาธิบดีทรัมป์แสดงความไม่พอใจในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เงินยูโรเผชิญแรงกดดันหลังคณะกรรมาธิการยุโรปกล่าวว่าร่างงบประมาณประชานิยมของอิตาลีละเมิดกฏเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ส่วนเงินปอนด์ยังผันผวนหลังข้อตกลง Brexit ขาดความชัดเจน
กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ปัจจัยชี้นำสำคัญจะอยู่ที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) โดยตลาดจะมุ่งความสนใจไปที่การสื่อสารด้านการดำเนินนโยบายของอีซีบีในระยะถัดไปท่ามกลางแรงกดดันที่สูงขึ้นในตลาดพันธบัตรอิตาลี ทั้งนี้ ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีกับเยอรมนีแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 ปี จากความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งในกลุ่มยูโรโซน
นอกจากนี้ นักลงทุนจะจับตาราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหลังความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบียย่ำแย่ลง รวมทั้งการเจรจา Brexit และข้อมูลจีดีพีไตรมาส 3 ของสหรัฐฯ ในภาพรวม เราคาดว่าบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินตลาดเกิดใหม่จะฟื้นตัวได้จำกัด หากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ยังทรงตัวที่ระดับสูง
สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ข้อมูลการค้าเดือนกันยายนบ่งชี้ว่ายอดส่งออกหดตัว 5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งสะท้อนเศรษฐกิจของคู่ค้าเริ่มประสบปัญหา โดยการส่งออกไปจีนลดลง 14.1% ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้น 9.9% ส่งผลให้ไทยมียอดเกินดุลการค้า 0.49 พันล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดว่า การส่งออกไทยปี 2562 จะเผชิญความท้าทายทั้งเงินบาทแข็งค่า ราคาน้ำมัน และสงครามการค้า โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตที่ 8% ใกล้เคียงกับปีนี้ที่คาดว่ามูลค่าส่งออกจะขยายตัวได้ 9% อนึ่ง เรายังคงมองว่าทางการมีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนสิ้นปีนี้ ตามสัญญาณความต่อเนื่องของแรงส่งเชิงบวกของอุปสงค์ภายในประเทศ