ราคาน้ำมันถูกกดดันจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นของซาอุดิอาระเบีย

491

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ  65 – 70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ  74 – 79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (29 ต.ค. – 2 พ.ย. 61)

 

ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดัน หลังซาอุดิอาระเบียประกาศถึงความพร้อมในการเพิ่มกำลังการผลิต เพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปจากอิหร่าน ประกอบกับการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังนักวิเคราะห์คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปี 2562 จะลดลงจากปัญหาทางเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่และผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นและอุปสงค์ที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำในช่วงฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากประเทศอิหร่านคาดจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังประเทศต่างๆ ปรับลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านก่อนวันกำหนดการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ในวันที่ 4 พ.ย. 61 นี้

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบียประกาศว่า ซาอุดิอาระเบียจะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากกำลังการผลิตเดิมที่ระดับ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปจากประเทศอิหร่านและเวเนซูเอลล่า และพร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 1-2 ล้านบาร์เรล หากอุปทานไม่เพียงพอต่ออุปสงค์ของโลก โดยกลุ่มโอเปกจะตกลงถึงการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในการประชุมที่เวียนนาซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ธ.ค. 61 นี้

 

  • การเติบโตของความต้องการน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยนักวิเคราะห์จาก UBS คาดว่าอุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปี 2562 จะลดลงเหลือ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับอัตราการเติบโตทางเศษฐกิจโลกที่หดตัวลง โดยกองทุน IMF คาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้า จะลดลงจาก 9% เป็น 3.7% จากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รวมถึงปัญหาทางเศรษฐกิจในแถบยูโรโซนและตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะประเทศอาร์เจนตินา บราซิล ตุรกี และแอฟริกาใต้
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูง และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตในบริเวณอ่าวแม็กซิโกเริ่มกลับมาดำเนินการบางส่วนแล้ว ขณะที่ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี มาอยู่ที่ 873 แท่น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานว่า ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 24 ต.ค. 61 ปรับเพิ่มขึ้นราว 6.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 423 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 3.7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม อุปสงค์น้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย หลังโรงกลั่นเริ่มกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง
  • ตลาดน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่ออุปทานน้ำมันดิบจากอิหร่าน เนื่องจากปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านคาดว่าจะปรับตัวลดลง 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยล่าสุด สหรัฐฯ ได้ออกมาเตือนประเทศที่ยังคงนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านให้ลดปริมาณการนำเข้าให้มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์เทียบกับปริมาณการนำเข้าก่อนหน้า เพื่อจะได้รับการละเว้นจากมาตราการคว่ำบาตร โดยทางสหรัฐฯ มั่นใจว่าจะสามารถลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านให้เหลือศูนย์ได้ โดยญี่ปุ่นและเกาหลีใต้หยุดทำการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านแล้ว ในขณะที่โรงกลั่นน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดสองแห่งของจีนมีแนวโน้มที่จะไม่นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในช่วงเดือน พ.ย. 61 นี้
  • อุปสงค์น้ำมันของจีนมีแนวโน้มเติบโตกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจจีนเติบโตดีขึ้นเกินคาด ประกอบกับ ปริมาณโรงกลั่นในจีนเพิ่มขึ้น โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของจีนในเดือน ก.ย. 61 ปรับเพิ่มขึ้นมาแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังโรงกลั่นเอกชนและโรงกลั่นใหม่สองแห่งของจีนทำการเพิ่มกำลังการผลิต
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 3/61 สหรัฐฯ ดัชนีสัญญาการซื้อบ้านที่รอการปิดการขายสหรัฐฯ และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและบริการยุโรป

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 – 26 ต.ค. 61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 1.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 77.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 6.35 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 3.7 ล้านบาร์เรล ประกอบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้นักลงทุนเลี่ยงที่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบีย จากประเด็นเรื่องการเสียชีวิตของผู้สื่อข่าวชาวซาอุดิอาระเบีย ซึ่งอาจส่งผลให้สหรัฐฯ ตัดสินใจคว่ำบาตรซาอุดิอาระเบียได้

ที่มา: บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์

โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 29 ตุลาคม 2561

www.mitihoon.com