ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ขนส่งกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ หรือ BTS กล่าวว่า ผู้โดยสารช่วงไตรมาส 2/61-62 (ก.ค.-ก.ย.) โตราว 1% หรือมีจำนวนผู้โดยสารราว 7-7.4 แสนเที่ยวคนเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุระบบเดินรถขัดข้อง แต่ภาพรวมทั้งปียังมั่นใจโตตามเป้า 4-5% หลังจากจะเปิดเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสีเขียวใต้ ช่วงสำโรง-สมุทรปราการในเดือน ธ.ค.61
ส่วนการยื่นประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง) ได้ศึกษาเงื่อนไขรายละเอียดการประกวดราคาแล้ว ยอมรับว่ายาก แต่จะยื่นประมูลแน่นอน โดยร่วมกับพันธมิตรรายเดิม คือ RATCH และ STEC โดย BTS ถือหุ้นในสัดส่วน 60% และมั่นใจว่าจะชนะการประมูล ซึ่งหากชนะการประมูลแล้ว ก็พร้อมให้ บมจ.ปตท.หรือ PTT ร่วมลงทุนพร้อมกับดำเนินการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ แล้วจะพิจารณาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต่อไป
สำหรับกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) อยู่ระหว่างดำเนินการหาเอกชนร่วมลงทุนรูปแบบ PPP ในโครงการบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสายหรือปรับโครงสร้างเดินรถไฟฟ้าบีทีเอสใหม่นั้น อยู่ในขั้นตอนของกทม.ศึกษาแผนรูปแบบเงื่อนไขการร่วมลงทุนใหม่ รวมถึงการดำเนินการโอนหนี้สินและทรัพย์สินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสีเขียวเหนือช่วง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสีเขียวใต้ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ โดยการโอนทรัพย์สินนั้น คาดว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศ (รฟม.) จะสามารถนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติได้ในเดือน พ.ย.61 และคาดว่าต้นปี 62 จะดำเนินการโอนแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ตามการ เข้าร่วมลงทุนบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามโครงสร้างใหม่นั้นต้องรอดูเงื่อนไขก่อนว่าจะได้รับสัญญาเดินรถเป็น 30 ปีหรือไม่ (2573-2602) จากที่เหลืออายุสัญญาเดิมอยู่ 10 (2562-2572) รวมถึงต้องดูว่าการรับภาระหนี้สินราว 8 หมื่นล้านบาทนั้นจะต้องเป็นการรับภาระร่วมกันกับกทม.หรือไม่อย่างไร และราคาค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาทจะคุ้มค่ามากแค่ไหน นอกจากนี้ก็ต้องดูว่าทางรัฐบาลจะพิจารณาให้เจรจาโดยตรงหรือเปิดประมูลใหม่ด้วย และจะมีผลกระทบต่อบริษัท และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) หรือไม่อย่างไร
www.mitihoon.com