อันดับที่ 1 TQM โชว์ศักยภาพผู้นำโบรกเกอร์ประกันภัย ประกาศความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลท. ยื่นไฟลิ่งขาย IPO ไม่เกิน 75 ล้านหุ้น
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น หรือ TQM ผู้นำธุรกิจนายหน้าประกันภัย โดย ดร.อัญชลิน พรรณนิภา ประธานบริษัท เผยว่า บริษัทฯได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) เพื่อขอเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 75 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ปัจจุบัน กลุ่มบริษัทฯ มีพันธมิตรที่เป็นบริษัทประกันภัยกว่า 40 แห่ง มีพนักงานขายที่ได้รับใบอนุญาตนายหน้าประกันภัยให้บริการกว่า 2,000 คน ผ่านสาขาและศูนย์บริการทั่วประเทศรวม 95 แห่ง ที่สามารถให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมและทั่วถึงทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย
อันดับที่ 2 BAY ตั้งเป้าสินเชื่อรายย่อยปี 62 โต 10% เน้นคุม NPL ไว้ที่ 2.6-2.7% ลุยเพิ่ม Banking agent 1 ราย ไม่เกิน Q1/62
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY โดยนายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย เปิดเผยว่า แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อรายย่อยในปี 62 คาดว่าจะเติบโตได้ 10% หรือคิดเป็นเม็ดเงินปล่อยใหม่ 1 แสนล้านบาท จากปี 61 คาดว่าจะเติบโต 10% จากฐานสินเชื่อรายย่อยคงค้างที่ 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อที่อยู่อาศัย โต 10% จากปีนี้โต 11% หรือคิดเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ 8 หมื่นล้านบาท และสินเชื่อส่วนบุคคลโต 2% จากปีนี้โต 2% หรือคิดเป็นสินเชื่อปล่อยใหม่ 1.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับรูปแบบสาขาใหม่ตามกลยุทธ์ ‘Smart’ Channel Strategy ให้ครอบคลุมทุกการให้บริการ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล โดยล่าสุดได้เปิดตัว Krungsri Siam Paragon Smart Branch สาขาต้นแบบ ที่เน้นความสำคัญของ Space Staff และ Speed พร้อมให้บริการด้วยเครื่องอัตโนมัติ ที่ครอบคลุมการธุรกรรมทั้ง ฝาก ถอน โอน จ่าย อัพเดทสมุดบัญชี และเปิดบัญชีอัตโนมัติ โดยลูกค้าสามารถทำธุรกรรมต่างๆ ได้ด้วยตนเอง สำหรับข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย.61 ธนาคารมีสาขาในรูปแบบ Branch อยู่ที่ 662 สาขา คาดว่าจะเพิ่มเป็น 664 สาขาในสิ้นปีนี้ และปี 62 จะเพิ่มเป็น 666 สาขา ส่วนตู้ ATM มีจำนวน 6,615 ตู้ คาดสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 6,700 ตู้ และในปี 62 เพิ่มเป็น 6,800 ตู้
อันดับที่ 3 NWR ย้ำ! ไตรมาส 3 กำไรเด่น คว้างานใหม่เพิ่ม 5.4 พันลบ.
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. เนาวรัตน์พัฒนาการ หรือ NWR ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง โดยแหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ไตรมาส 3/61 คาดอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) โตราว 6% ซึ่งยังไม่รวมกำไรพิเศษจากค่าเสียหายคดีโครงการบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ราว 278 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้กำไรสุทธิไตรมาส3/61 เติบโตโดดเด่น เทียบกับไตรมาส 2/61 ขาดทุนสุทธิ 5 ล้านบาท ส่วนงานประมูลในปีนี้ ได้งานใหม่เข้าแล้วกว่า 4,600 ล้านบาท ซึ่งในช่วงที่เหลือของปี 61 มั่นใจว่าจะได้งานเข้ามาเพิ่มอีกราว 5,400 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากงานซับคอนเทรคโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู และอีกส่วนหนึ่งราว 2,600 ล้านบาทมาจากงานโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน เส้นรัชดาภิเษก-พระราม 9 ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)โดยจะส่งผลให้ NWR ได้งานในปีนี้ตามเป้าหมาย 10,000 ล้านบาท และจะส่งผลให้มียอดงานในมือ (Backlog) เพิ่มเป็น 16,563-17,563 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 10,210 ล้านบาท รับรู้เป็นรายได้ถึงปี 63
อันดับที่ 4 SPALI โบรกคาดกำไร Q3/61 อ่อนตัวลง แต่ Q4 ฟื้น เพิ่มคำแนะนำเป็น “ซื้อ” เป้าปีหน้า 25 บ.
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาด บมจ.ศุภาลัย หรือ SPALI กำไรปกติไตรมส 3/61 อยู่ที่ 1.2 พันล้านบาท หดตัว 3% จากไตรมาสก่อน และหดตัว 27.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการโอนคอนโดได้ช้ากว่าแผน ประกอบกับ SG&A ที่ยังอยู่ในระดับสูง จากการจ่ายค่า Commission ให้กับ Agent ขณะที่โมเมนตัมกำไรไตรมาส 4/61 คาดฟื้นตัว และทำจุดสูงสุดของปี จากการเร่งโอนคอนโด และแนวราบเต็มที่ ดังนั้น ปรับไปใช้ราคาเหมาะสมปี 2562 ที่ 25 บาท ราคาหุ้นปรับลงจนมี Upside 14% จึงเพิ่มคำแนะนำจาก “ถือ” เป็น “ซื้อ” แต่ด้วยงบไตรมาส 3/61 ที่อ่อนแอ และมีโอกาสที่ตลาดปรับประมาณการลง นักลงทุนจึงอาจรอเข้าซื้อภายหลังประกาศงบวันที่ 13 พ.ย.61 ไปแล้ว
อันดับที่ 5 THANI กำไรปี 61-62 แกร่ง โบรกเชียร์เคาะขวา อัพเป้าใหม่11.00บ.
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ราชธานีลิสซิ่ง หรือ THANI แนวโน้มผลประกอบการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการประชุมนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 31 ต.ค.61 ผู้บริหารได้ชี้แจงถึงการตั้งสำรองที่ลดลงอย่างมีนัยในไตรมาส 3/2561 เนื่องจากการตั้งสำรองส่วนเกินที่สูงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมองว่ามีความเพียงพอต่อการบังคับใช้ TFRS9 ในอนาคต และคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ในอนาคตบริษัทจะกลับไปตั้งสำรองในระดับปกติ และส่งผลให้การดำเนินงานในปี 2561-2562 เพิ่มขึ้น