5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้น ภาคเช้า

115

อันดับที่ 1 BCPG ไตรมาส3 กำไรกระฉูด 481 % บุ๊กกำไรขายโรงไฟฟ้าในญี่ปุ่น

มิติหุ้น-บมจ.บีซีพีจี (BCPG) โดย นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ แจ้งว่า บริษัทกำไรไตรมาสที่ 3 ปี 2561เท่ากับ 1,139.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 481.2 จากไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ196.0 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจาก (1) การรับรู้กำไรจากการจำหน่ายโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างไตรมาสจำนวนสองโครงการ ได้แก่ โครงกำร Nagi และ Nikaho โดยภายหลังจากหักค่าใช้จ่ายรวมถึงภาษีเงินได้บริษัทฯ รับรู้กำไรสุทธิจากการจำหน่ายสินทรัพย์ดังกล่าวเป็นจำนวน 658.3 ล้านบาท (2) การไม่มีผลขาดทุนจากสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เช่นเดียวกับในไตรมาสที่ 3 ปี 2560 ที่ 254.9 ล้านบาท (3) การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 172.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มาอยู่ที่113.6 ล้านบาท และ (4) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลงจำนวน 46.8 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 26.1 ส่งผลให้งวด 9 เดือน ปี 2561 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 1,909.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 71.6 หรือเพิ่มขึ้น 796.9 ล้านบาทหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อันดับที่ 2 ATP30 ลั่นงบQ4โตต่อเนื่อง หลังQ3โชว์กำไรพุ่งเกือบ 30% ตามฐานลูกค้าเพิ่ม

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.เอทีพี 30 หรือ ATP30 ผู้นำการให้บริการรถโดยสารขนส่งบุคลากร โดย “นายปิยะ เตชากูล” กรรมการผู้จัดการ เผยว่า แนวโน้มไตรมาส 4/61 จะเติบโตต่อเนื่อง เพราะจะเริ่มให้บริการรถรับ-ส่ง นักท่องเที่ยว “กรุงเทพ-เกาะพงัน” หลังร่วมทุน กับ “บมจ.ท่าเรือราชาเฟอร์รี่ หรือ RP” ทำให้คาดว่าในปี 62 สัดส่วนรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากปีนี้ที่ 3% ของรายได้รวม โดยทั้งปี 61 มั่นใจรายได้จะเติบโตตามเป้าที่ 20% จากปีก่อนทั้งนี้บริษัทได้รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 3/61 มีกำไรสุทธิ 10.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.14% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 8.35 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการให้บริการ 109.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.76% จากการขยายการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ และขยายธุรกิจสู่ภาคการท่องเที่ยว ส่งผลงวด 9 เดือน มีกำไรสุทธิ 30.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94.39% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 15.69 ล้านบาท

อันดับที่ 3 GUNKUL ไตรมาส 3 ลมแรง จ่ายไฟได้เพิ่ม หนุนกำไรแกร่ง

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL ผู้ให้บริการติดตั้งระบบวิศวกรรมไฟฟ้า และผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน โดยนางสาวโศภชา  ดำรุงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร เปิดเผยว่า มั่นใจว่าผลประกอบการไตรมาส 3/61 จะเติบโตดีกว่าไตรมาส 3/60 ที่มีกำไรสุทธิ 140 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับกลุ่ม บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF  เพื่อติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป  Private PPA ขนาดกำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์มูลค่า 1,200 ล้านบาทที่ประเทศกัมพูชา คาดว่าจะได้ข้อสรุปไตรมาส2/62 อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีโซลาร์รูฟท็อปในมืออยู่ราว 50 เมกะวัตต์ จากเป้าหมายปีนี้จะทำให้ได้ 70 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการที่จะ COD ในปี 62 ประกอบด้วย โซลาร์ฟาร์มอีก 170 เมกะวัตต์ที่ประเทศญี่ปุ่น และยังเหลืออีก 40 เมกะวัตต์คาดว่า COD ในปี 63 นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเจรจาลงทุนเพิ่มเติมในประเทศเวียดนาม ญี่ปุ่น มาเลเซีย

อันดับที่ 4 NER  น้องใหม่เปิดเทรดวันแรก 2.22 บ.  หวังได้เงินทุนเสริมแกร่งธุรกิจในอนาคต

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. นอร์ทอีส รับเบอร์ หรือ NER  ได้เข้าซื้อขายวันแรก เปิดตลาดฯที่  2.22 บาท จากราคา IPO ที่ 2.58 บาท โดย NER ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากยางพารา ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์และกลุ่มผู้ค้าคนกลาง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งบริษัทได้รับอนุญาตเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางพาราไปยังนอกราชอาณาจักร โดยมีสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายสินค้าในประเทศต่อต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายสินค้าในประเทศ 60% และต่างประเทศ 40% ของรายได้จากการขายสินค้า

อันดับที่ 5 SF งบโค้งสุดท้าย ส่อแวววิ่งต่อ ตามค่าเช่าพุ่งแรง กูรูเชียร์ซื้อ เจอกันราคา 10.60 บ.

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ หรือ SF โดยฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง  ระบุว่า คาดกำไรปกติของ SF ในไตรมาส 4/61 จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน และจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลซึ่งมีการจัดกิจกรรมการตลาดค่อนข้างมากทำให้มีการให้เช่าพื้นที่ส่วนกลางเพิ่มขึ้นดังนั้น จึงแนะนำซื้อ โดยมีราคาเป้าหมายพื้นฐาน 10.60 บาท โดยประเมินว่าผลประกอบการจะถูกผลักดันจากการปรับขึ้นค่าเช่า และการปรับปรุงโครงการเดิมทำให้มีพื้นที่เช่าเพิ่มขึ้น เช่น ในไตรมาส 1/62 พื้นที่ส่วนขยายของเมกาบางนา 8,500 ตารางเมตร จะพัฒนาเป็นโซน Edutainment มีผู้เช่าหลักคือ Harbor Land และโรงเรียนสอนพิเศษ นอกจากนั้น ยังมีโครงการทองหล่อง 4 ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงเป็น Mixed use สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3/61 บริษัทมีกำไรสุทธิ 337 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันที่มีกำไร 324 ล้านบาท ขณะที่กำไร 9 เดือนทำได้ 829 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร825 ล้านบาท