ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 3.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 71.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 3.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 70.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 6.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 4.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 88.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ นาย Mike Pompeo ประกาศผ่อนผัน (Waiver) มาตรการคว่ำบาตร ให้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบอิหร่าน 8 ราย ประกอบด้วย จีน ไต้หวัน อินเดีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ตุรกี อิตาลีและกรีซ สามารถนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 180 วัน ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ย. 61 ที่มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ เบื้องต้นสหรัฐฯ กำหนดปริมาณนำเข้า เมื่อเทียบกับปริมาณนำเข้าเฉลี่ยเดือน ม.ค.-ก.ย.61 ของแต่ละประเทศ ดังนี้ จีน 360,000 บาร์เรลต่อวัน (64%) อินเดีย 300,000 บาร์เรลต่อวัน (53% ) และเกาหลีใต้ 200,000 บาร์เรลต่อวัน (66%) อนึ่ง Reuters คาดว่าปริมาณส่งออกน้ำมันดิบอิหร่านจะอยู่ที่ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ วันที่ 6 พ.ย. 61 พรรค Democrats สามารถควบคุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) และพรรค Republican ควบคุมวุฒิสภา (Senate) ส่งผลให้พรรค Democrat สามารถลงมติเสนอร่างกฎหมาย เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย อาทิ ให้สหรัฐฯ กลับไปเข้าร่วมในข้อตกลงปารีส (Paris Accord) ที่เน้นการลดใช้เชื้อเพลิงจาก Fossil ซึ่งจะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันโลก
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐฯ และรัสเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นส่งผลลบต่อราคาน้ำมัน ทั้งนี้ซาอุดีอาระเบีย ผลิตน้ำมันดิบ เดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน, สหรัฐฯผลิตน้ำมันดิบช่วงสัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 2 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 400,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 11.60 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ กระทรวงพลังงานของรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เดือน ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 50,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 11.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- Energy Information Administration (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2562 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 12.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ปริมาณการผลิตจะทะลุหลัก 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นครั้งแรก ช่วงไตรมาสที่ 2/62 เร็วกว่าเดิมที่เคยคาดว่าจะเป็นไตรมาสที่ 4/62
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 431.8 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 5 เดือน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย (Saudi Aramco) ปรับลดราคาประกาศ (Official Selling Price – OSP) สำหรับส่งมอบให้ลูกค้าเอเชีย ในเดือน ธ.ค. 61 อาทิ น้ำมันดิบชนิด Arab Light ลดลง 0.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ Dubai/Oman +$1.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
- ในวันที่ 8 พ.ย. 61 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 00-2.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ เม.ย. 2551 อนึ่ง นักลงทุนคาดการณ์ว่า Fed มีโอกาสมากกว่า 90% ที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมในเดือน ธ.ค. 61 หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะมีผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุน
- กรมศุลกากรของจีนรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน ต.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 32% มาอยู่ที่ 9.61 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันสัปดาห์ก่อนลดลง เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลต่ออุปสงค์น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มเติบโตในระดับต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ กอปรกับอุปทานในช่วงปัจจุบันเพิ่มขึ้นสูงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ผลิตรายใหญ่ ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และสหรัฐฯ ซึ่งปริมาณการผลิตแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านรายใหญ่ 8 ประเทศ ได้รับการผ่อนผันให้สามารถลดการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปภายใน 180 วัน นับจากวันที่ 5 พ.ย. 61ขจัดความวิตกต่อการเกิดภาวะอุปทานขาดตลาด ทั้งนี้ นักลงทุนปรับลดสถานะถือครองสุทธิสัญญาน้ำมันดิบ WTI และ Brent ลงมาแตะระดับต่ำสุดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ตลาดได้รับสัญญาณการลดปริมาณการผลิตน้ำมัน โดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบีย นาย Khalid al-Falih เผยว่ามีแผนลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน ธ.ค. 61 ลงปริมาณ 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับระดับการผลิตในเดือน พ.ย. 61 ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ในเดือน ต.ค. 61 อยู่ที่ 10.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ Goldman Sachs เห็นว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงต่ำกว่าราคาพื้นฐาน และดัชนีราคาสินค้าโภคกัณฑ์ (S&P GSCI Enhanced Commodity) จะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 6.5 % ในระยะเวลา 12 เดือนข้างหน้า และราคาน้ำมันดิบ Brent จะปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ $80/BBL ในช่วงปลายปี 2561 อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2562 จะลดลงสู่ระดับ $65/BBL ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ Brent น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 68-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ WTI อยู่ในกรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องจากอุปทานน้ำมันเบนซินล้นตลาดเอเชีย และโรงกลั่นน้ำมันในเอเชียยังไม่มีท่าทีจะลดอัตราการกลั่น เนื่องจากเร่งผลิตน้ำมันดีเซล ต่างจากในยุโรปที่เริ่มลดอัตราการกลั่นลงแล้ว ขณะที่ Platts รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มลดลงจากภาวะอากาศหนาวเย็น ประกอบกับโรงกลั่น Wakayama (กำลังการกลั่น 127,500 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท JXTG Nippon Oil & Energy Corp. ในญี่ปุ่นกลับมาเดินเครื่องหน่วย Crude Distillation Unit หรือ CDU (กำลังการกลั่น 127,500 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 61 หลังปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 25 ก.ย. 61 และ บริษัท Donying Yatong Petrochemical ในจีนมีแผนเดินเครื่องหน่วย Continuous Reformer (กำลังการผลิต 25,000 บาร์เรลต่อวัน) หน่วยใหม่ ที่โรงกลั่น Shandong (กำลังการกลั่น 85,000 บาร์เรลต่อวัน) จากปัจจุบัน 50% สู่ระดับ 100% ภายในสิ้นปีนี้ ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 228 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 440,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.82 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 210,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.94 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่องจากแรงขายของอินเดีย และ ไต้หวัน ขณะที่โรงกลั่น Antwerp (กำลังการกลั่น 320,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท ExxonMobil ในสหรัฐฯ เริ่มเดินเครื่องหน่วย Delayed Coker (กำลังการผลิต 50,000 บาร์เรลต่อวัน) เพื่อผลิตน้ำมันดีเซล Marine Gas Oil อีกทั้ง บริษัท Korea National Oil Co. (KNOC) ของเกาหลีใต้รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล เดือน ก.ย.61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 17.3 % อยู่ที่ 16.9 ล้านบาร์เรล และปริมาณการผลิตเพิ่มจากปีก่อน 14 % อยู่ที่ 31.1 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 650,000บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.16 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบกว่า 1 เดือน อย่างไรก็ตาม Platts รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซลจากตะวันออกกลางและอินเดียไปยังตะวันตกเปิด และ PAJ รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 พ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 40,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.15 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 พ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 3.4 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 122.9 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 เดือน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 84.5-89.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ที่มา:ฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
www.mitihoon.com