KTCวางเป้ากำไร5 พันลบ. – จ่อลุยนาโน-พิโกไฟแนนซ์

80

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC ปรับแผนธุรกิจรองรับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น โดยนายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคยังคงเติบโตต่อเนื่อง จากแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัว ด้วยแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวตามเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น รวมถึงอุปสงค์ในประเทศที่มีแรงส่งเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้กำลังซื้อมีการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาครัฐจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ บริษัทมีการปรับแผนการตลาดเชิงรุกต่อเนื่องในหลายมิติเพื่อให้เกิดการแข่งขันได้ และเตรียมตัวให้พร้อมกับการเผชิญกับสภาวะเศรษฐกิจและปัจจัยภายนอกที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งมุ่งสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยกำลังเตรียมการเข้าสู่ธุรกิจ “นาโนไฟแนนซ์” และ “พิโกไฟแนนซ์” ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการขออนุญาตจัดตั้งบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์และพิโกไฟแนนซ์ต่อธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตามลำดับต่อไป

สำหรับในปี 2561 บริษัทยังคงเป้าหมายการเติบโตด้านปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรรวมไม่ต่ำกว่า 15% พอร์ตลูกหนี้เติบโตประมาณ 10% และรักษาระดับ NPL รวมในอัตราเดิมประมาณ 1.2% โดยคาดว่าจะทำกำไรในปี 2561 ได้ในระดับประมาณ 5,000 ล้านบาท และตั้งประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 เติบโต 10% จากปี 2561 โดยกำไรสุทธิ 9 เดือนแรกอยู่ที่ 3,911 ล้านบาท เติบโต 65% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2561 อยู่ที่ 1,396 ล้านบาท โดยรายได้ยังเติบโตต่อเนื่องจากปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร และยอดลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่ขยายตัว

โดย ณ วันที่ 30 ก.ย.2561 KTC มีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 73,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินทรัพย์ที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทอยู่ในรูปของลูกหนี้การค้าสุทธิคิดเป็น 92% ของสินทรัพย์รวม โดยพอร์ตลูกหนี้การค้ารวมเท่ากับ 72,870 ล้านบาท ฐานสมาชิกรวม 3.2 ล้านบัญชี เติบโต 5.2% แบ่งเป็นบัตรเครดิต 2,301,431 บัตร ขยายตัว 3.6% พอร์ตลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 46,616 ล้านบาท ขยายตัว 5% สัดส่วนของลูกหนี้บัตรเครดิตเทียบกับอุตสาหกรรมปัจจุบันอยู่ที่ 12.6%

ขณะที่อัตราเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต KTC รวมเท่ากับ 8.7% ปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมูลค่า 138,289 ล้านบาท ตสาหกรรมเติบโต ส่วนแบ่งการตลาดของการใช้จ่ายผ่านบัตรเท่ากับ 11.1% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม (NPL) ลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ 1.2% จาก 1.5% NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.1% ลดลงจาก 1.2% สินเชื่อบุคคล 929,634 บัญชี ขยายตัว 9.5% ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 25,917 ล้านบาท เติบโต 8% สัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเทียบกับอุตสาหกรรมเท่ากับ 7.0% และ NPL ของสินเชื่อบุคคลอยู่ที่ระดับเดิม 0.8% โดยสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัย-จะสูญต่อ NPL ยังคงมูลค่าสูงที่ 615% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 565%