5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้นภาคเช้า

155

อันดับที่ 1 BPP เดินตามแผนลงทุนโรงไฟฟ้า 4,300 MW ล่าสุด COD โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์อีก 20.46 MW ที่ญี่ปุ่น

มิติหุ้น-บมจ. บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) แจ้งว่า โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นาริไอสึ ที่บริษัทลงทุนผ่านโครงการลงทุนแบบทีเค ในประเทศญี่ปุ่น ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 ตามแผน ขนาด 20.46 MW โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าว ตั้งอยู่ จ.ฟูกูชิมะ มีกำลังการผลิตรวม 20.46 MW (ตามสัดส่วนที่บริษัทฯ ลงทุน 15.35 MW) และได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ บริษัท Tohoku Electric Power Co.,Inc. เป็นระยะเวลา 20 ปี โดยมีราคารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff(FIT) 36 เยนต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ขณะที่ บริษัทมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้น 13 โครงการ กำลังการผลิตรวม 358.76 MW (ตามสัดส่วนที่บริษัทฯ ลงทุน 233.57 MW) ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว 58.86 MW (ตามสัดส่วนที่บริษัทฯลงทุน 37.42 MW)

อันดับที่ 2 AEONTS กำไรมุ่งหน้านิวไฮ ส่องยอดสินเชื่อโตสูง 10-15%

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ภาพรวมผลประกอบการของบมจ.อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS งวดไตรมาส 3/2561 จะเห็นการขยายตัวมากกว่าไตรมาสก่อนที่มีกำไรสุทธิ 861 ล้านบาท โดยแหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ผลประกอบการของ AEONTS จะเติบโตไปตามการขยายฐานสมาชิกของ AEONTS ซึ่งยังเป้าหมายในการขยายฐานสมาชิกและจำนวนบัตรเครดิตอย่างต่อเนื่อง บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ ระบุว่า แนะนำ “ซื้อ” AEONTS ราคเป้าหมาย 217.00 บาท โดยคาดผลประกอบการปี 2561 เพิ่มขึ้น 22% เป็น 3.5 พันล้านบาท และเติบโตต่อเนื่องในปี 2562-2563 ที่ระดับ 16-15% หรืออยู่ที่ 4.1 – 4.8 พันล้านบาท ซึ่งผลประกอบการเพิ่มขึ้นตามสินเชื่อที่ฟื้นตัวขึ้น โดยคาดว่าสินเชื่อในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกที่เติบโต 5% โดยคาดสินเชื่อปี 2561 จะเติบโต 11.1% และเพิ่มขึ้นเป็น 12% และ 12.1% ในปี 62-63

อันดับที่ 3 QTC กางแผนปี 62 ปั๊มรายได้ทะลุ 1 พันลบ.ตุนงานเพียบ-บุ๊กโรงไฟฟ้าเต็มปี

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ หรือ QTC โดย นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 4/61 จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) จำนวน 8 เมกะวัตต์ ซึ่งสามารถสร้างรายได้กว่า 150 ล้านบาท/ปี หรือคิดเป็นกำไรสุทธิราว 60-70 ล้านบาท รวมถึงปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) ราว 300-400 ล้านบาท ทยอยรับรู้ถึงปี 62 ส่งผลให้มั่นใจทั้งปีนี้พลิกกลับมามีกำไร ขณะเดียวกัน ในปี 62 บริษัทตั้งเป้ารายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ตามคำสั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้ในประเทศที่ 70% และ จากต่างประเทศ 30%

อันดับที่ 4 AKR โชว์งบ Q4 พีคแรง – ลุยชิงงานหม้อแปลง 3 พันล.

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงาน บมจ.เอกรัฐวิศวกรรม หรือ AKR ผู้ผลิต-จำหน่าย หม้อแปลงไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์ โดย “นายดนุชา น้อยใจบุญ” กรรมการผู้จัดการ เผยว่า ในปี 61 มั่นใจผลงานจะพลิกมีกำไรสุทธิ แม้ช่วง 9 เดือนแรกของปีจะยังขาดทุนสุทธิถึง 8.08 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4/61 คาดผลงานจะทำจุดสูงสุดแห่งปี หรือมีโอกาสใกล้เคียงกับไตรมาส 4/60 ที่มีกำไรสุทธิ 16.47 ล้านบาท และรายได้รวมที่ 452.70 ล้านบาท  เนื่องจากช่วงไตรมาส 4/61 จะทยอยรับรู้รายได้งานในมือ (Backlog) ที่มี 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นการรับรู้ในไตรมาสนี้กว่า 200 ล้านบาท รวมถึงช่วงต้นไตรมาสที่ผ่านมามีการรับงานใหม่ และสามารถรับรู้รายได้ในปีนี้ทันทีด้วย พร้อมกันนี้ช่วงเดือน ธ.ค.61 บริษัทจะมีประมูลงานหม้อแปลงไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ซึ่งเป็นงานภายใต้งบประมาณปี 61 มูลค่าราว 600 ล้านบาท คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในระยะถัดไป

อันดับที่ 5 SAMART จ่อเซ็นสัญญารับงานใหม่ ภายใน ธ.ค.นี้ มูลค่ากว่า 2,000 ลบ. ดัน Backlog ทะลุหมื่นลบ.ทันที

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น (SAMART)  โดยนายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเซ็นสัญญารับงานใหม่ภายในเดือน ธ.ค.นี้ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะหนุนให้งานในมือของเฉพาะSAMART พุ่งแตะ 10,000 ล้านบาททันที  ส่วนในกรณีรวมทั้งกลุ่ม คาดว่าสิ้นปีจะมีงานในมือมากกว่าระดับ 20,000 ล้านบาท   สำหรับผลการดำเนินงานปีนี้คาดว่าจะขาดทุนลดลง และจะกลับมาพลิกมีกำไรอย่างก้าวกระโดดในปีหน้า ตามการรับรู้งานอย่างต่อเนื่องจำนวนมาก  ซึ่งจะทำให้พื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนไปในทิศทางบวกโดยสิ้นเชิง

www.mitihoon.com