5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้น ภาคเช้า

121

อันดับที่ 1 CIMBT ลุยตราสารหนี้ตลาดรอง – เล็งพัฒนาช่องทางดิจิทัล

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT โดยนายภูดินันท์ เศรษฐนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารพัฒนาผลิตภัณฑ์การเงินและธุรกิจผลิตภัณฑ์การเงิน และที่ปรึกษา Equity Derivatives เปิดเผยว่า จากการรุกทำตลาดซื้อขายหุ้นกู้และพันธบัตรในตลาดรอง ทำให้ธนาคารสามารถรักษาความเป็นผู้นำในธุรกรรมการซื้อขายในตราสารหนี้ตลาดรองมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับภาพรวมปี 2561 ธนาคารมีปริมาณธุรกรรมของลูกค้าเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 100 รายการ โดยเฉพาะจำนวนธุรกรรมของลูกค้าบุคคลเติบโตกว่า 30% จากลูกค้าเดิมที่ยังคงทำธุรกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงลูกค้าใหม่ที่ให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ฐานลูกค้าของเรามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ 1,500 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 2,200 ราย ฐานลูกค้าเติบโตกว่า 50% ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าบุคคลให้ความสนใจลงทุนในหุ้นกู้เอกชนตลาดรองเพิ่มขึ้น 36% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา  สำหรับในปี 2562 ธนาคารจะเพิ่มความเข้มข้นในการให้ความรู้ แนะนำ และทำตลาดเพิ่มขึ้นอีก ผ่านงานสัมมนาทั้งใหญ่และเล็ก กิจกรรม Exclusive ที่ธนาคารจัดให้ลูกค้าบุคคลธนกิจ CIMB Preferred และลูกค้าธนบดีธนกิจ Private Banking และกำลังพัฒนาช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้นอีกด้วย

อันดับที่ 2 IVL เข้าซื้อกิจการผลิตภัณฑ์ถุงลมนิรภัย ในประเทศเยอรมนี-เม็กซิโก

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส หรือ IVL บริษัท PHP Fibers GmbH (PHP Fibers) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อม ได้ลงนามเข้าทำสัญญาซื้อและโอนหุ้น (Share Purchase and Transfer Agreement) กับ นาย Wilfried Trumpp และ นาง Venere Polito เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 เพื่อเข้าซื้อกิจการในอัตราร้อยละ 100 ของบริษัท UTT Beteiligungsgesellschaft mbH (UTT) ประเทศเยอรมนีโดย UTT เป็นหนึ่งในผู้ผลิตชั้นนำด้านเส้นใยถุงลมนิรภัยและสิ่งทอเทคนิคชนิดพิเศษต่าง ๆ โดยมีโรงงาน 2 แห่งตั้งอยู่ในประเทศเยอรมนี และประเทศเม็กซิโก ซึ่งมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 12,000 ตันต่อปี สำหรับการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว บริษัทคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2562 ขึ้นอยู่กับการได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง

อันดับที่ 3 7UP ขายหุ้นมิตรประสงค์ กรีนพาวเวอร์ (MPG) เกลี้ยงพอร์ต!

มิติหุ้น-บมจ.เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (7UP)โดยนายชนินทร์ เกียรติทวีพงษ์ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  แจ้งว่า มติประชุมคณะกรรมการอนุมัติให้บ.ย่อย “เฟอร์รั่ม เอ็นเนอร์ยี่” ขายหุ้น บ.มิตรประสงค์ กรีนเพาเวอร์ “MPG” ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตน้ำมันปาล์ม ที่ถืออยู่ทั้งหมด 438,421 หุ้น ในราคาหุ้นละ 232.65 บาท รวมมูลค่า 102 ลบ. ให้แก่ “บ.กลุ่มสมอทอง”นอกจากนี้ บมจ.เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ แจ้ง บ.ย่อย “เอ็ม โซลูชั่น” เข้าซื้อหุ้น บ.อินฟอร์เมติกซ์ พลัส (Informatix Plus)  ในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด จากผู้ถือหุ้นเดิม มูลค่าไม่เกิน 25 ลบ.โดย Informatix Plus ดำเนินการประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการระบบPlatform ระบบสื่อสารโทรคมนาคม รวมทั้งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ด้าน Mobile Technology

อันดับที่ 4 AOT ปี62 ขยาย 3 ธุรกิจใหม่คุยUAEฮับกระจายสินค้าเกษตร

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ท่าอากาศยานไทย หรือ AOT ผู้ให้บริการท่าอากาศยานนานาชาติ โดยนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างการเจรจากับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สำหรับ (ยูเออี) เป็นศูนย์กระจายสินค้าเกษตรไปยังภูมิภาคยุโรป โดยปัจจุบัน AOT ได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทเกี่ยวกับตรวจสอบคุณภาพสินค้า (คาร์โก้) คาดว่าจะเปิดดำเนินการที่ท่าอากาศยานดอนเมืองได้ในเดือน เม.ย.62  เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท และเป็นการส่งเสริมสินค้าเกษตรของไทยรวมถึงการเป็นศูนย์กระจายสินค้าเกษตรของภูมิภาคอาเซียน ด้านแหล่งข่าวนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ ประเมินหุ้น AOT ว่า ปี 62 คาดว่าจะทำกำไรนิวไฮได้ต่อเนื่องอีก อัตราหนี้สินต่อทุนต่ำ (D/E) 0.36 เท่ายังมีศักยภาพในการกู้เงินลงทุนอีกมาก และมีเน็ตมาร์จิ้นเฉลี่ยปีละ 36-40% และยังมีโอกาสขยายการลงทุนท่าอากาศยานเพิ่มอีก 6 แห่งหนุนการเติบโตในระยะยาว ดังนั้นจึงประเมินราคาเป้าหมายไว้ที่ 75 บาทพร้อมแนะนำซื้อ

อันดับที่ 5 ARROW สปีดเต็มร้อย ปั๊มยอดขายส่งท้ายปี – อัพกำลังการผลิตท่อร้อยสายไฟ ส่ง “ท่อลมในระบบปรับอากาศ”รุกงานโครงการ กอดแบ็กล็อกกว่า 900 ลบ.

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. แอร์โรว์ ซินดิเคท หรือ ARROW โดยนายธานินทร์ ตันประวัติ กรรมการผู้จัดการ เผยว่า แนวโน้มธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ไตรมาส 4/61 เชื่อว่ายังขยายตัวอยู่ในทิศทางที่ดี เนื่องจากจะมีคำสั่งซื้อใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง  โดยมั่นใจว่ารายได้ปีนี้จะเติบโต 10% ส่วนปี 62 ตั้งเป้ากำไรสุทธิโตตัวเลข 2 หลัก จากการเพิ่มยอดขายและสินค้ามีมาร์จิ้นสูงขึ้น ขณะเดียวกัน ARROW  ยังมีใบสั่งซื้อสินค้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการผลิตคิดเป็นจำนวนมากกว่า 400 ล้านบาท  โดยจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้  และมีงานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) กว่า 900 ล้านบาท   และเตรียมเสนองานอีกหลายโปรเจค จึงทำให้เชื่อมั่นว่า ถึงแม้ธุรกิจก่อสร้างอยู่ในสภาวะทรงตัว แต่รายได้รวมยังสามารถเติบโต โดยปีนี้คาดว่ารายได้จะใกล้เคียงกับเป้าหมายที่วางไว้  ที่สำคัญยังสามารถทำกำไรได้อย่างแข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับธุรกิจในกลุ่มเดียวกัน