5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้น ภาคบ่าย

142

อันดับที่ 1 GPI เซ็น MOU สมาคมยานยนต์แห่งเมียนมา พร้อมจัด “ย่างกุ้ง มอเตอร์โชว์”ครั้งแรก 23-27 ม.ค.62 พร้อมขยายการจัดงานไปยังประเทศอื่นในอาเซียน

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. กรังด์ปรีซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ GPI โดยนายอโณทัย เอี่ยมลำเนา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านพัฒนาธุรกิจ  เผยว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา GPI Myanmar Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ GPI ได้ลงนามในบันทึกข้อความตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Automotive Association of Myanmar (AAM) หรือสมาคมยานยนต์แห่งประเทศเมียนมา เพื่อให้บริษัทฯ เป็นผู้จัดงาน Yangon International Motor Show ครั้งที่ 1 ขึ้นที่ประเทศเมียนมา และเป็นการยืนยันความพร้อมการจัดงานดังกล่าวที่คาดหวังจะให้เป็นงานมหกรรมแสดงสินค้าด้านยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมียนมาทั้งนี้ ภายหลังพิธีลงนาม MOU บริษัทฯ ในฐานะผู้จัดงาน Yangon International Motor Show ครั้งที่ 1 ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการยานยนต์ชั้นนำจากญี่ปุ่นและยุโรป ที่แสดงความสนใจและให้การตอบรับเข้าร่วมงานดังกล่าว เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการจัดงาน Bangkok International Motor Show ในประเทศไทยมาแล้วถึง 39 ครั้ง และปัจจุบันถือเป็นงานมหกรรมแสดงสินค้าด้านยานยนต์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

อันดับที่ 2 DDD ตั้งเป้ารายได้ปี 62 โต 20% ลุยขยายกำลังการผลิต-ออกผลิตภัณฑ์ใหม่

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. ดู เดย์ ดรีม หรือ DDD โดยนายปิยวัชร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานบัญชีและการเงิน เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 4/61 คาดว่ารายได้จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากในช่วงไตรมาส 3/61 บริษัทได้มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้เหมาะสมกับช่องทางร้านค้าแบบดั้งเดิม และเมื่อต้นไตรมาส 4/61 บริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ “NAMU LIFE SNAILWHITE ICY MASK” มาส์กเนื้อเกล็ดหิมะ รวมถึงได้รุกเข้าไปร้านสะดวกซื้อแบบดั้งเดิมในท้องถิ่น ส่งผลให้เห็นสัญญาณที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังได้ตั้งงบลงทุนประมาณ 30-40 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ สำหรับขยายการผลิตให้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งยังวางแผนจะสร้างคลังสินค้าแห่งใหม่ ที่นิคมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อรองรับความต้องการในอนาคต

อันดับที่ 3 คสช.ปลดล็อกการเมือง กูรูเชียร์ 3 หุ้นค้าปลีก-สื่อกลางแจ้งเด่นสุดคือ “BJC-CPALL-VGI”

มิติหุ้น-จากการณีที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ใช้มาตรา 44 เพื่อปลดล็อคกิจกรรมพรรคการเมือง และเปิดทางให้นักการเมืองสามารถเริ่มหาเสียงได้อีกครั้งในรอบ 5 ปีนั้น บทวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย)ได้ระบุว่า จากประเด็นการปลดล็อกทางการเมืองดังกล่าวนั้นใกล้เคียงกับสิ่งที่เราได้ประเมินไว้ในบทวิเคราะห์ Strategy report ไว้ โดยยังคงมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มค้าปลีก, สื่อกลางแจ้ง 3 ตัวคือ BJC, CPALL, VGI

อันดับที่ 4 UOB สวนกระแสยุคดิจิทัล – ปรับโฉมสาขาดันผลงานโต

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ธนาคารยูโอบี (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOB ดำเนินการปรับรูปแบบสาขาใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยนายเจมส์ รามา ปัทมินทรวิภาส เปิดเผยว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขาของธนาคารเพื่อต้องการตอบโจทย์ลูกค้าในส่วนที่ยังต้องการที่ปรึกษาทางการเงิน แม้ในปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่จะมีการใช้บริการช่องทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น และส่งผลการทำธุรกรรมผ่านสาขาแบบเดิมลดลงไปกว่า 27% ในช่วงที่ผ่านมา สำหรับภาพรวมสินเชื่อของธนาคารในปี 2561 คาดว่าจะเห็นการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 5% ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกสินเชื่อมีการเติบโตที่ระดับ 3.6% ขณะที่ภาพรวมธุรกิจของธนาคารในปีนี้คาดว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 27% ส่วนทิศทางธุรกิจในปี 2562 ยังอยู่ระหว่างการสรุปเป้าหมายต่างๆ แต่เบื้องต้นมั่นใจว่าในทุกกลุ่มธุรกิจจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% โดยสินเชื่อน่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3-4 เท่า ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ที่คาดว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3%

อันดับที่ 5 BAY ประเมิน กนง.นัด 19 ธ.ค.นี้ ขยับดอกเบี้ยอีก 0.25% ส่งท้ายปี61

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ประเมินทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.70-33.00 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 32.83 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อหุ้นไทย 6.1 พันล้านบาท และซื้อพันธบัตร 1.15 หมื่นล้านบาท ด้านเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบเงินยูโรและเงินเยน ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวลง หลังตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) จะชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 5 ปีปรับตัวลดลงต่ำกว่าพันธบัตรอายุ 2 ปี สร้างความกังวลว่าเส้นอัตราผลตอบแทนแบบพลิกกลับ (Inverted Yield Curve) อาจเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญความท้าทายและเข้าสู่ภาวะถดถอยในที่สุด อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าความเสี่ยงต่อการเติบโตของไทยจากภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงแนวโน้มตลาดการเงินที่ผันผวนสูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิดซึ่งสนับสนุนแนวทางการปรับสมดุลนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป