CIMBT ส่องจีดีพีปี 62 โตชะลอ เหลือ 3.7% – เดินหน้าเลือกตั้งหนุนลงทุน         

56

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2562 จะมีการเติบโตในอัตราชะลอตัว โดยนายอมรเทพ จาวะลา ผู้บริหารสำนักวิจัย CIMBT เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวที่ระดับ 3.7% ชะลอตัวจากปี 2561 ที่คาดว่าจะขยายตัว 4% ซึ่งในปี 2562 ยังเต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย แต่อยู่บนความไม่แน่นอน เช่น ตลาดเกิดใหม่จะยังคงผันผวนเหมือนปีนี้หรือไม่ หรือเมื่อการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐชัดเจนแล้วว่าไม่รีบขึ้น เงินก็น่าจะไหลกลับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่

ขณะที่กรณีการแยกตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษจะเรียบร้อยดี หรือส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ และอาจลามไปสู่ยุโรป แม้ยูโรโซนเองจะสงบขึ้น แต่ปัญหาหนี้ภาครัฐของอิตาลียังสูงและจะเป็นชนวนให้เกิดวิกฤติหนี้ครั้งใหญ่หรือไม่ โดยสรุป เราอยากบอกนักลงทุนว่า อย่าไปตกใจกับปัญหาต่างๆ มากเกินไป เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งประเทศไทยได้เผชิญมาแล้วและผ่านพ้นไปได้ แต่มีโอกาสและความท้าทายอยู่ 3 ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ

สำหรับประเด็นสงครามการค้าที่ยังไม่จบ แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะตกลงกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เพื่อเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าจาก 10% เป็น 25% ไปอีก 90 วัน แต่ไม่ได้แปลว่าสงครามการค้ายุติลง มองต่อไปข้างหน้า สงครามการค้าอาจเปลี่ยนรูปแบบจากการใช้ภาษีนำเข้าเป็นการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือ Non-tariff barriers (NTB) เช่น กฎระเบียบการลงทุน การแก้ปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา และการใช้ค่าเงินอ่อนเพิ่มขีดความสามารถการส่งออก ซึ่งไทยและตลาดเกิดใหม่ในอาเซียนอาจได้รับผลกระทบจากการแผ่อิทธิพลของทุนจีน ที่ระบายกำลังการผลิตส่วนเกินในประเทศ

ส่วนความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนคงยากที่จะหาทางออกได้ เพราะหากสงบศึก และปล่อยให้เป็นไปดังเช่นที่ผ่านมา ภายในปี 2568 หรืออีกไม่เกิน 7 ปี เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะจีนการเติบโตรวดเร็ว แม้จะชะลอต่ำกว่าร้อยละ 6 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ยังสูงกว่าการเติบโตของสหรัฐที่ราว 2% ซึ่งสหรัฐคงยอมไม่ได้หากต้องกลายเป็นเบอร์ 2 ทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งการตอบโต้ของสหรัฐคือการกดดันจีนไม่ให้สามารถเติบโตได้เร็ว ด้วยการขัดขวางการที่จีนจะเป็นใหญ่ด้านเทคโนโลยี ซึ่งการจำกัดการส่งออกของจีนก็จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่สหรัฐจะทำต่อไป

สำหรับประเด็นการเมืองของไทยยังคงมีผลต่อเศรษฐกิจ ผ่านความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค และนโยบายภาครัฐที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้ขณะนี้ยังไม่ได้ประเมินผลกระทบของการเลือกตั้งในมุมมองเศรษฐกิจ แต่การเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ.2562 จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ที่ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตก และสามารถเจรจาการค้าเสรี FTA กับยุโรปได้สะดวกขึ้น จะมีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC