ปิดฉากปีจอ ต้อนรับปีกุนที่อาจผันผวนยิ่งกว่า

149

เมื่อมองย้อนกลับไป นักลงทุนมีความทรงจำเกี่ยวกับปี 2561 ว่าเป็นปีแห่งความไม่แน่นอนสำหรับตลาดการเงินโลก โดยเฉพาะประเด็นข้อขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นและมีลักษณะกลับไปกลับมา กระบวนการถอนตัวของสหราชอาณาจักรจากสหภาพยุโรปเป็นไปอย่างทุลักทุเล ความกังวลต่อปัญหาวินัยการคลังในอิตาลีและฝรั่งเศส รวมถึงความปั่นป่วนในตลาดเกิดใหม่บางแห่ง เช่น ตุรกี และอาร์เจนติน่า

เรามองอย่างระมัดระวังว่าในปี 2562 ตลาดจะยังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญแรงกดดันทั้งจากปัจจัยเดิมข้างต้นที่ยังคงยืดเยื้อ ท่าทีการตอบโต้กันไปมาอย่างสับสนระหว่างสหรัฐฯ และจีน และวัฎจักรเศรษฐกิจการค้าโลกที่ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วกำลังรอท้าทายนักลงทุน ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย อีกหลายภูมิภาคของโลกจะทยอยคุมเข้มนโยบายการเงิน สภาพคล่องส่วนเกินของโลกที่เริ่มลดลงจะทำให้กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมีความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ต่างๆ มากขึ้น และเพิ่มความผันผวนให้กับตลาดหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน พันธบัตร หุ้น และสินค้าโภคภัณฑ์

ทั้งนี้ เราตั้งข้อสังเกตว่าความผันผวนในปี 2561 สะท้อนว่าสภาวะแวดล้อมของการลงทุนกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเทียบกับภาวะตลาดที่นิ่งเกินจริงในช่วงเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวพร้อมเพรียงกันเมื่อปี 2560 ขณะที่ธนาคารกลางสำคัญหลายแห่งของโลกอัดฉีดสภาพคล่องจำนวนมหาศาลสู่ตลาดในระยะก่อนหน้านี้ (ภาพด้านล่าง) จากปัจจัยดังกล่าว เงินดอลลาร์น่าจะอยู่ในทิศทางอ่อนค่าสลับผันผวนในปี 2562 หลังจากที่แรงหนุนจากความเชื่อของตลาดที่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ในภาวะแข็งแกร่งสามารถรับมือกับสงครามการค้าได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ กำลังจะเปลี่ยนไป โดยเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ หลังจากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯไม่สามารถรักษาแรงส่งเชิงบวกเอาไว้ได้หลังแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อต้นเดือนตุลาคม

อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์จากประเด็นแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดจะเป็นไปอย่างจำกัดเนื่องจากความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฝั่งยุโรปยังคงเปราะบาง นักลงทุนจึงลังเลที่จะขายดอลลาร์เช่นกัน ส่วนตลาดเกิดใหม่อาจแยกเป็นกลุ่มที่ปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง ทุนสำรองสูง และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เช่น ไทย และกลุ่มที่กลุ่มที่มีหนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับสูง เช่น อินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยพึ่งพาภาคส่งออกเป็นหลัก ดังนั้น แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนมาเป็นการบริโภคและการลงทุนในประเทศอาจทำได้เพียงประคับประคองโมเมนตัมของการเติบโต

ขณะที่ภาพรวมการขยายตัวจะช้าลงสู่ระดับปานกลาง ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% มาที่ระดับ 1.75% ในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เพื่อดูแลเสถียรภาพการเงินในระยะยาวที่สะสมความเปราะบางเพิ่ม ขณะที่ความเสี่ยงด้านขาลงของการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งจากปัจจัยภายนอก หนี้ภาคครัวเรือน รวมถึงอุปทานคอนโดล้นตลาดในบางพื้นที่ ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

โดยรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ

ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

 

www.mitihoon.com