ลุ้นเงินไหลกลับตลาดเกิดใหม่ ปีหน้า

117

              ดัชนี SET index สัปดาห์ที่ผ่านมาแย่กว่าคาด หลุดแนวรับจิตวิทยา 1,600 จุด โดยปัจจัยลบที่เข้ามาซ้ำเติมตลาดหุ้นทั่วโลกคือ ความกังวลสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจชะลอตัวเข้าสู่ภาวะ เศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซ้ำเติมด้วยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของเฟด (แม้ว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดรอบนี้จะเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ก็ตาม) ขณะเดียวกันราคาน้ำมันดิบปรับฐานแรงต่อเนื่อง WTI หลุด 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล กดดันหุ้นกลุ่มพลังงานที่เคยเป็นตัวค้ำยันดัชนี SET index อย่างไรก็ดี เราประเมินว่าสัปดาห์นี้ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของปี 2561 นักลงทุนต่างชาติเริ่มหยุดการเทรด ขณะที่ยังคงคาดหวังเม็ดเงิน LTF โค้งสุดท้าย ที่อาจจะช่วงค้ำยันดัชนี SET index ให้ยืนเหนือ 1,600 จุดได้ และสำหรับปี 2562 เราคาดว่าเม็ดเงินต่างชาติน่าจะมีการหมุนวนกลับมายังตลาดหุ้นเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทย ซึ่งน่าจะทำให้ช่วยยุติแนวโน้มขาลงระยะสั้นได้

ประเด็นปัจจัยลบจากต่างประเทศ แม้ว่าสัปดาห์นี้น่าจะชะลอลงไปบ้าง (เข้าสู่ช่วงเทศกาลคริสต์มาส)  แต่ประเด็นที่ยังน่ากังวลได้แก่ ประเด็นเรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากปัจจัยต่างๆที่เริ่มส่งสัญญาณ เช่น Flat yield curve (ได้อธิบายไปแล้วในบทความที่เขียนก่อนหน้านี้) ซึ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯมีโอกาสเข้าสู่การชะลอตัวหรือ Recession ในอีก 12 เดือนข้างหน้า (ซึ่งในเชิงนิยามของ Recession ในทางเศรษฐศาสตร์ คือการชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของ GDP ต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาสติด) โดยหากไม่มีเหตุการณ์เข้ามาซ้ำเติม เศรษฐกิจสหรัฐฯก็น่าจะอยู่ในภาวะเพียงแค่ชะลอตัว ไม่ได้ถึงขั้นวิกฤตเศรษฐกิจ (Crisis) ยกตัวอย่าง เช่น 3 ครั้งที่ผ่านมา ที่เกิดเหตุการณ์ Flat yield curve นั้น มักจะต้องมีเหตุการณ์เข้ามาซ้ำเติม จนเกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น สงครามอ่าวเปอร์เซีย ในปี 2533 (เกิดสงครามอ่าวเปอร์เซีย), ปี 2543 (เกิดเหตุการณ์ dot com), และปี 2550 – 51 (เกิดวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์) ดังนั้นจึงแนะนำนักลงทุนติดตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯอย่างใกล้ชิดแต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนกกับมัน เนื่องจาก หากเป็นเพียงการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯแต่ไม่ได้เกิดเป็นวิกฤตเศรษฐกิจ อาจกลับกลายเป็นโอกาสของตลาดหุ้นเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทย ที่เม็ดเงินลงทุนมีไหลกลับไปในช่วงปี 2561 อาจไหลกลับมาอีกครั้งในปี 2562 ได้ เนื่องจากราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ที่ปรับตัวลงแรงในปี 2561 ทำให้ Valuation กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง

จากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจชะลอตัว นักลงทุนจึงควรเน้นไปที่การเข้าซื้อสะสม หุ้นที่เน้นเศรษฐกิจในประเทศ และเป็นหุ้นที่มีลักษณะของกระแสเงินสดที่ผันผวนต่ำ ได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ เลือก KBANK (Laggard และ Valuation ถูกสุดในรอบ 10 ปี) กลุ่มค้าปลีก เลือก CPALL (Valuation ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก) กลุ่มโรงไฟฟ้า เลือก BGRIM (เป็นหุ้นโรงไฟฟ้าที่มี EPS Growth เด่นสุดในกลุ่ม ที่ยังมี Upside) และหุ้น AOT (การท่องเที่ยวไทย น่าจะพ้นจุดต่ำสุดแล้ว)

โดยสุโชติ ถิรวรรณรัตน์