ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 4.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 56.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 4.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 47.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 55.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 2.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 59.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 3.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 68.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- วันที่ 20 ธ.ค. 61 คณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ (Federal Open Market Committee: FOMC) มีมติเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.25% อยู่ที่ 2.25% – 2.50% เป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งที่ 4 ในปีนี้ และประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Jerome Powellส่งสัญญาณจะยังคงปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในปี พ.ศ. 2562 และส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นอีกต่อเนื่องในปีหน้า ส่งผลให้นักลงทุนวิตกกังวลถึงภาวะเศรษฐกิจโลกและความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัว อนึ่งธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณใช้นโยบายทางการเงินแบบตึงตัวต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2562 ทำให้ ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตาม เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศ และป้องกัน Capital Outflow ซึ่งอาจส่งผลลบต่อการลงทุนและการบริโภคน้ำมัน
- นักลงทุนลดการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น สกุลเงินเอเชีย และน้ำมันในยามที่สภาพเศรษฐกิจโลกเต็มไปด้วยความเสี่ยงจากประเด็นสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน ที่ล่าสุดยอดขายปลีกในจีน เดือน พ.ย. 61 เติบโตเพียง 8.1% ต่อปี ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 15 ปี โดยยอดขายรถยนต์หดตัวจากปีก่อน 10.0% หดตัวมากสุดในรอบเกือบ 7 ปี ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมโตจากปีก่อนเพียง 5.4% ขยายตัวต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี
- Energy Information Administration (EIA) ประเมินว่าการผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 61 จะทำสถิติใหม่ด้วยการพุ่งขึ้นไปถึง 8.03 ล้านบาร์เรลต่อวัน และจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอีก 130,000 บาร์เรลต่อวัน ไปแตะ 8.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ม.ค. 62
- โฆษกของบริษัท Nexen แถลงแหล่งผลิต Buzzard (กำลังการกลั่น 150,000 บาร์เรลต่อวัน) แหล่งผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ในทะเลเหนือ กลับมาดำเนินการแล้วหลังจากหยุดเพื่อซ่อมแซมท่อขนส่งน้ำมันที่เกิดรั่วไหลตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 61
- Joint Organization Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียเดือน ต.ค. 61 เพิ่มขึ้น 270,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 7.70 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- กระทรวงน้ำมันของอินเดีย รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ ในเดือน พ.ย. 61 ลดลงจากปีก่อน 11.4% อยู่ที่ 4.13 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นการลดลงต่อเดือนที่มากที่สุดในรอบ 4 ปี
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ธ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 500,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 441.5 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบีย นาย Khalid al-Falih ชี้ว่าปริมาณสำรองน้ำมันทั่วโลกจะลดลงในช่วงปลายไตรมาส 1/62 โดยสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน จะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับจีน
- Norwegian Petroleum Directorate ของนอร์เวย์รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ในเดือน ม.ค.- พ.ย. 61 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.48 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2556
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันปิดตลาดวันศุกร์อยู่ในระดับต่ำสุดตั้งแต่ไตรมาส 3/61 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องตามตลาดหุ้น Wall Street ของสหรัฐฯ จากความกังวลในการเกิด Government Shutdown ของสหรัฐฯ เป็นครั้งที่ 3 ของปี รวมถึงนาย Peter Navarro ที่ปรึกษาด้านการค้าของประธานาธิบดี Donald Trump ชี้ว่าสหรัฐฯ กับจีนอาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในช่วงสงบศึก 90 วันที่เปิดช่องสำหรับการเจรจายุติสงครามการค้า เว้นแต่จีนจะยกเครื่องนโยบายทางเศรษฐกิจทั้งหมด ทั้งนี้ ราคาหุ้นที่ร่วงหนักที่สุดคือกลุ่มโทรคมนาคมและกลุ่มเทคโนโลยี นอกจากนี้ตลาดยังถูกกดดันหลังจากรายงาน GDP ไตรมาส 3/61 (ประมาณการครั้งที่ 3) เพิ่มขึ้น 3.4% จากปีก่อนหน้า ต่ำกว่าประมาณการครั้งก่อนที่เพิ่มขึ้น 3.5% จากปีก่อนหน้า และต่ำกว่าการเพิ่มขึ้น 4.2% จากปีก่อนหน้าในไตรมาสที่ 2 อีกทั้ง นักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันล้นตลาด และแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันที่ยังอ่อนแอ อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) นาย Suhail al-Mazrouei เผยว่าหากการลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และพันธมิตรเพียง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไม่เพียงพอจะทำให้ตลาดสมดุลในปี 2562 กลุ่มOPEC และพันธมิตรพร้อมที่จะจัดการประชุมพิเศษ (extraordinary meeting) และหาแนวทางเพื่อทำให้ตลาดสมดุล และหากจำเป็นก็พร้อมที่จะขยายเวลาในการลดปริมาณการผลิตออกไปอีก 6 เดือน จากข้อตกลงในเดือน ธ.ค. 61 ที่จะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 62 (OPEC และ Non-OPEC ลดปริมาณการผลิต 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปริมาณการผลิตในเดือน ต.ค. 61 ตามลำดับ โดยเริ่มลดการผลิตในเดือน ม.ค. 62) นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันอิรัก นาย Thamir Ghadhban ยังคาดว่าจำเป็นจะต้องขยายเวลาในการลดปริมาณการผลิตออกไปจากข้อตกลงเดิม (สิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 62) และอิรักพร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ทั้งนี้ OPEC จะมีการประชุมเกี่ยวกับนโยบายการผลิตน้ำมันครั้งต่อไปในเดือน เม.ย. 62 ที่กรุงเวียนนา ออสเตรีย ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 52-57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 43-48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51.5-56.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก Pertamina บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซียมีแผนร่วมทุนกับบริษัท SK Engineering และ Hyundai Engineering ของเกาหลีใต้ในการ upgrade โรงกลั่น Balikpapan (กำลังการกลั่น 260,000 บาร์เรลต่อวัน ) เพื่อขยายกำลังการกลั่นมาอยู่ที่ 360,000 บาร์เรลต่อวัน โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 และ Bloomberg รายงานบริษัท Exxon กลับมาเดินเครื่องโรงกลั่น Fawley (กำลังการกลั่น 320,000 บาร์เรลต่อวัน ) ในสหราชอาณาจักร ในวันที่ 15 ธ.ค. 61 หลังการซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ และ Platts รายงานบริษัท Hengli Refinery and Chemical ของจีนได้เริ่มทดสอบเดินเครื่อง trail runs โรงกลั่นแห่งใหม่ (กำลังการกลั่น 400,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งจะผลิตน้ำมันเบนซินปริมาณ 110,000 บาร์เรลต่อวัน อีกทั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานปริมาณการผลิต น้ำมันเบนซินเดือน พ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7.1% อยู่ที่ระดับ 102 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ธ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 230.1 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือน ขณะที่ปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ธ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.18 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 12.45 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 1 เดือนครึ่ง และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ธ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 270,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.39 ล้านบาร์เรล และ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54.5-59.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงเนื่อง Bloomberg รายงานโรงกลั่น Mizushima B (กำลังการกลั่น 180,000 บาร์เรลต่อวัน ) ของบริษัท JXTX ประเทศญี่ปุ่น กลับมาส่งมอบน้ำมันสำเร็จรูปทางเรือ หลังหยุดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. 61 Platts รายงานว่าน้ำมันดีเซล Arbitrage จากเอเชียสู่ยุโรปแคบมากจนเกือบปิด และ Platts คาดการณ์ว่าจีนจะส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน ธ.ค. 61 เพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันต้องการใช้โควตาส่งออกให้หมด ทั้งนี้ รัฐบาลออกโควตาเพิ่มเติมรอบใหม่ให้ในเดือน ต.ค. และ พ.ย. 61 และมีอายุถึงสิ้นปีเท่านั้น ทั้งนี้ เดือน พ.ย. 61 จีนส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 11.7% มาอยู่ที่ 4.5 ล้านตัน ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 19 ธ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 190,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.11 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบเกือบ 4 เดือน อย่างไรก็ตาม Joint Organizations Data Initiative (JODI) รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของซาอุดีอาระเบีย เดือน ต.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 7% (ลดลงจากปีก่อน 12.4%) มาอยู่ที่ 2.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลเดือน พ.ย. 61 ลดลงจากปีก่อน 6.2 % อยู่ที่ 110.25 ล้านบาร์เรล ด้านปริมาณสำรอง PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ธ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 770,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.29 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.5-69.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
www.mitihoon.com