อันดับที่ 1 PTTEP ไตรมาส4 กำไรพีคสุด โบรกยังแนะนำซื้อ 152 บ.
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินหุ้น PTTEP ว่า ไตรมาส4/61 จะทำกำไรสุทธิประมาณ 11,804 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 50.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโตเพิ่มขึ้น 22.35% เทียบกับไตรมาส3/61 ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในปี 2561 เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกปริมาณขายและราคาขายก๊าซฯ ที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับต้นทุนผลิตต่อหน่วยลดลง ช่วยชดเชยผลกระทบจากการอ่อนตัวของราคาน้ำมันดิบดูไบ 9.2% เหลือ 67.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนกำไรสุทธิปี 2562 ประเมินไว้ที่ 39,139 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลจากการปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบลง 7.1% เป็น 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ยังคงสมมติฐานราคาน้ำมันระยะยาวที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้นจึงได้ประเมินราคาหุ้นที่เหมาะสมไว้ที่ 152 บาท แนะนำซื้อ
อันดับที่ 2 WHAUP แจ้ง บ.ย่อยร่วมทุนกับ “บ.กัลฟ์ เอ็มพี” เริ่ม COD โรงไฟฟ้า กัลฟ์ เอ็นแอลแอล 2 ขนาด 126.9 MW แล้วเมื่อ 1 ม.ค.62
มิติหุ้น-บมจ. ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) แจ้งว่า โครงการ (GNLL2)เป็นโครงการโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer –SPP) ใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิง ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัท ดับบลิวเอชเอ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ WHAUP ถือหุ้นร้อยละ 99.99) และบริษัท กัลฟ์ เอ็มพี จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ 25.01 และร้อยละ 74.99 ตามลำดับ ได้เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2562 โดยโครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมด 126.9 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำติดตั้ง 10.0 ตันต่อชั่วโมง ตั้งอยู่ที่เขตประกอบอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอระยอง (WHA RIL)อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ทั้งนี้โรงไฟฟ้า กัลฟ์ เอ็นแอลแอล2 เป็นโรงไฟฟ้าแห่งที่ 6ใน Portfolio การร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัท WHAUP และบริษัท กัลฟ์ เอ็มพี จำกัด ถัดจากโรงไฟฟ้า กัลฟ์ วีทีพี, โรงไฟฟ้ากัลฟ์ ทีเอส 1, โรงไฟฟ้ากัลฟ์ ทีเอส 2 โรงไฟฟ้ากัลฟ์ ทีเอส 3และโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ทีเอส 4ซึ่งได้เริ่มดำเนินการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ไปแล้วเมื่อปี 2560 -2561
อันดับที่ 3 BAFS ปี61ให้บริการน้ำมันโต4.5% ลุ้นให้บริการน้ำมันอู่ตะเภา
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ หรือ BAFS ผู้ให้บริการน้ำมันอากาศยานผ่านท่อ โดยแหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ปี 61 ปริมาณการให้บริการน้ำมันอากาศยานผ่านท่อในท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรวมกันอยู่ที่ 6,003 ล้านลิตร เพิ่มขึ้น 4.5% เมื่อเทียบกับปี 60 นั้นมีปริมาณ 5,747 ล้านลิตร เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยวที่เติบโตเพิ่มขึ้นที่ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศขยายตัวขึ้น ขณะที่ผลประกอบการปี 61 รายได้รวมเติบโตดีกว่าปี 60 ที่ผ่านมาที่มีรายได้ 3,640 ล้านบาท ขณะกำไรสุทธิก็มีโอกาสทำสถิติสูงสุด (นิวไฮ) หรือทะลุ 1,000 ล้านบาทหลังจากปริมาณให้บริการน้ำมันผ่านท่อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อโอกาสการเติบโตเพิ่มขึ้นในอนาคตได้เข้าร่วมประมูลการให้บริการน้ำมันอากาศยานในท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภาคาดว่าจะประกาศผลประมูลในเดือนเมษายน 62
อันดับที่ 4 GPSC ทำกำไรนิวไฮ ลุยจ่ายไฟฟ้าเพิ่มอีก 386.5 MW กูรูเคาะเป้า70บ.
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC โดยนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า ผลประกอบการในปี61 จะเติบโตได้ดีกว่าปี60 แม้ต้นทุนราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น โดยจะเติบโตตามการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ที่เพิ่มขึ้น โดย ณ สิ้นปี 61 ได้ COD แล้ว 1,530 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตที่มีอยู่มือราว 1,979.5 เมกะวัตต์ ซึ่งรวมกับโครงการโซลาร์ฟาร์มที่เพิ่งซื้อกิจการมาเมื่อเดือนธ.ค. 61 จำนวน 39.5 เมกะวัตต์ โดยโครงการนี้คาดว่าจะโอนหุ้นแล้วเสร็จในไตรมาส1/61
อันดับที่ 5 CAZ เคาะราคาหุ้น IPO ที่ 3.90 บ. เปิดจอง 8-15ม.ค. พร้อมเข้าเทรดปลายม.ค.นี้ มั่นใจผลตอบรับดี
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บริษัท เอส 14 แอดไวเซอรี่ จำกัด โดย นางปิยะภา จงเสถียร กรรมการผู้จัดการ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) บริษัท ซี เอ แซด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CAZ เปิดเผยว่า การกำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของCAZ จำนวน 80 ล้านหุ้น อยู่ที่ ราคา 80 ล้านหุ้น โดยหุ้นจะเปิดให้ผู้ถือหุ้นของTAKUNI จองซื้อได้ในวันที่ 8-10 ม.ค.62 อีกทั้งจะเปิดจองซื้อสำหรับประชาชนทั่วไประหว่างวันที่ 11-15 ม.ค.62 ซึ่งคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงปลายเดือน ม.ค.62 ต่อไป พร้อมมั่นใจว่าจะได้ผลรับที่ดีจากนักลงทุน ทั้งนี้แม้ว่าภาพรวมภาวะตลาดหุ้นไทยและกระแสหุ้นIPO ที่เป็นเชิงลบ ทางบริษัทไม่ได้มีความกังวลแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทCAZ มีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง พร้อมด้วยงานในมือ (Backlog) ที่มีอยู่ขณะนี้กว่า 2,800 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้อย่างต่อเนื่อง และยังหางานใหม่เข้ามาทดแทนอย่างสม่ำเสมอ