ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 55.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 46.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 53.55เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 2.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 57.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 66.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ในเดือน ธ.ค. 61 ลดลง 460,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 32.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงมากสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 60 ทั้งนี้ที่ประชุม OPEC และ Non-OPEC วันที่ 7 ธ.ค. 61 มีมติกลับมาลดการผลิตปริมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มต้นเดือน ม.ค. 62 ดังนั้น การที่ OPEC เริ่มลดการผลิตด้วยความสมัครใจตั้งแต่เดือน ธ.ค. 61 น่าจะช่วยลดอุปทานในตลาดได้เร็วขึ้น ทั้งยังสะท้อนความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติที่ซาอุดีอาระเบียประกาศไว้ว่าจะพยายามลดการผลิตให้มากกว่าข้อตกลง
- Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 8 แท่น มาอยู่ที่ 877 แท่น ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 สัปดาห์
- Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ธ.ค. 61 ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 441.4 ล้านบาร์เรล
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มอ่อนแอ ล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index หรือ PMI) ของ สหรัฐฯ และจีนลดลง กดดันความต้องการใช้น้ำมัน ทั้งนี้ Markit รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต ของสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 1.5 จุด มาอยู่ที่ 53.8 จุด ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ขณะที่สำนักสถิติแห่งชาติจีน รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน ธ.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 0.6 จุด อยู่ที่ 49.4 จุด ต่ำสุดตั้งแต่ ก.พ. 59 และต่ำกว่า 50 จุด (บ่งชี้สภาวะถดถอย) เป็นครั้งแรกตั้งแต่ ก.ค. 59
- กระทรวงพลังงานรัสเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยรายปี ในปี พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 180,000 บาร์เรลต่อวัน ทำสถิติสูงสุดใหม่ที่ 11.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ผลิตรายปีเหนือระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9,924 สัญญา มาอยู่ที่ 152,325 สัญญา ต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นด้วยแรงหนุนจากการเจรจาระหว่างกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ และจีน เพื่อยุติสงครามการค้า ที่กรุงปักกิ่งในวันที่ 7-8 ม.ค. 62 ซึ่งประธานาธิบดี Donald Trump แห่งสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ว่าน่าจะเป็นไปได้ด้วยดีส่งผลให้นักลงทุนคลายความกังวลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกที่อาจได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า อย่างไรก็ตามสถานการณ์ปิดหน่วยงานภาครัฐในสหรัฐฯ บางส่วนดำเนินต่อเนื่องเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 เพราะสภาคองเกรสยังไม่ผ่านร่างงบประมาณที่ประธานาธิบดี Trump ต้องการในการสร้างกำแพงกั้นชายแดนสหรัฐฯ และเม็กซิโก อย่างไรก็ดีประธานาธิบดี Trump มีท่าทีอ่อนข้อลง โดยอาจใช้เหล็กแทนคอนกรีตในการก่อสร้าง ซึ่งน่าจะทำให้งบประมาณลดลง ด้านความเคลื่อนไหวในวงการน้ำมัน ลิเบีย ซึ่งได้รับการยกเว้นจากมาตรการลดการผลิตของ OPEC ตั้งเป้าเพิ่มการผลิตขึ้นกว่า 2 เท่า มาอยู่ที่ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี พ.ศ. 2564 สูงกว่าการผลิตก่อนเกิดสงครามกลางเมืองซึ่งอยู่ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ความวุ่นวายในประเทศทำให้การผลิตขาดเสถียรภาพมาโดยตลอด ปัจจุบัน การผลิตอยู่ต่ำกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara (ปริมาณการผลิต 340,000 บาร์เรลต่อวัน) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศถูกกองกำลังติดอาวุธซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ ปิดล้อมมาตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. 61 เพื่อเรียกร้องสวัสดิการจากรัฐบาล อนึ่งปัจจัยด้าน Fund Flow อาจมีการเปลี่ยนแปลงหลัง ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) นาย Jerome Powell กล่าวแก่ American Economic Association ว่า Fed ไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง และมีความเป็นไปได้ที่จะยุตินโยบายการเงินแบบตึงตัว (Tightening) หากสถานการณ์จำเป็น ในกรณีที่ Fed ชะลอหรือยุติการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต้นทุนการเงินของภาคธุรกิจมีแนวโน้มลดลง ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจอ่อนค่าลงสนับสนุนการเคลื่อนย้ายเงินทุนสู่สินทรัพย์เสี่ยงและลดค่าใช้จ่ายนำเข้าน้ำมันเมื่อแปลงเป็นสกุลเงินของประเทศผู้นำเข้า ส่งผลบวกต่ออุปสงค์น้ำมัน ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 54.0-59.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 45.0-50.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 52.0-57.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นอิสระในจีน (Independent Refineries) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.4% มาอยู่ที่ระดับ 64.1% และ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Residues เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 150,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 20.05 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Reuters รายงานโรงกลั่นน้ำมัน ISAB (กำลังการผลิต 321,000 บาร์เรลต่อวัน) ของอิตาลี กลับมาดำเนินการแล้ว หลังจากปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. 61 และ EIA รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ธ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 240 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 57.0-62.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ม.ค. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 200,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.33 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม Indian Oil Corp. (IOC) ของอินเดียออกประมูลขายดีเซล 1.2 %S ปริมาณ 300,000 บาร์เรล ส่งมอบ 23-25 ม.ค. 62 และ CPC Corp. ของไต้หวันออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.01% S ปริมาณ 300,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 1-27 ก.พ. 62 และ Formosa Petrochemical Corp. ของไต้หวันออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.001%S ปริมาณ 500,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 6-10 ก.พ. 62 ขณะที่ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ธ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 9.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 129.4 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65.0-70.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
โดยวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ที่มา : ฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
www.mitihoon.com