ตลาดหุ้นไทยเริ่มต้นสัปดาห์นี้ (14 ม.ค.) ดูเหมือนจะเจอปัจจัยที่พลิกกลับมาผันผวนอีกครั้ง หลังจากสัปดาห์ก่อนปัจจัยต่างประเทศค่อนข้างจะส่งผลบวกต่อบรรยากาศลงทุนทั้งเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นและการเจรจาการค้าของสหรัฐฯกับจีนที่มีแนวโน้มดี แต่ตลาดหุ้นไทยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาตลาดปิดตัวลบค่อนข้างมากSET Index ปิดตลาดลบไป -14.47 จุด ดัชนีปิดที่ 1,582.57 จุด ปริมาณการซื้อขาย 41,496 ล้านบาท เป็นการแกว่งตัวในแดนลบตลอดวันทำการตั้งแต่เปิดตลาด ตามทิศทางของตลาดหุ้นทั่วโลก หลังจากที่เกิดความกังวลเรื่องการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกอีกครั้ง หลังมีรายงานตัวเลขการนำเข้าและส่งออกของจีนล่าสุดติดลบทั้งคู่ ส่งผลตลาดหุ้นสหรัฐฯนำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่กำลังจะมีการรายงานงบการเงินของไตรมาสที่ 4 ปรับตัวลงไปเพราะผลกระทบจากสงครามการค้า และทำให้สินทรัพย์เสี่ยงต่ำอย่าง ทองคำ ปรับตัวขึ้นในทันทีมาอยู่ที่ระดับ 1,291 เหรียญฯ
ขณเดียวกันตลาดเริ่มสะท้อนข่าวการชะลอขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จากเดิมที่คาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้อาจเหลือเพียง 2 ครั้งเท่านั้นส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ขณะเดียวกันยังมีความกังวลต่อการปิดหน่วยงานราชการของสหรัฐฯ (Goverment Shutdown) เนื่องจากยังไม่มีท่าทีว่าจะสามารถเจรจากับพรรคเดโมแครตได้ในเร็วๆนี้
อีกประเด็นที่สำคัญซึ่งตลาดกำลังติดตามดูในสัปดาห์นี้คือเรื่องการโหวตสภาฯของอังกฤษเพื่อลงมติอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (EU) หรือ BRExit เป็นประเด็นที่จะมีผลต่อเรื่องเศรษฐกิจรวมทั้งค่าเงินของอังกฤษและสภาพยุโรป ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลโหวตในเช้าวันพุธที่ 16 ม.ค. นี้ แต่ยังไม่ใช่การโหวตครั้งสุดท้าย หากยังไม่ผ่านสภาฯ นายกรัฐมนตรีอังกฤษมีโอกาสเสนอเข้าพิจารณาอีกครั้งในอีก 3 วันถัดไป
สำหรับในบ้านเรา จะเริ่มมีการรายงานงบการเงินไตรมาส 4 ของโดยเฉพาะกลุ่มธนาคารแต่ตลาดจะให้ความสนใจไปที่ตัวเลขหนี้เสีย (NPL) เป็นหลักหลังจากไตรมาสที่ผ่านมาเริ่มเห็นตัวเลขสูงขึ้น อีกปัจจัยที่คือเรื่องการเลือกตั้งของไทยที่ยังไม่มีกำหนดออกมาชัดเจนว่าจะเป็นวันที่เท่าไร นั่นจึงเป็นปัจจัยกดดันให้ตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นไปได้ไม่มาก แม้ว่าจะเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีของกลุ่มท่องเที่ยวจากตัวเลขนักท่องเที่ยวในเดือนที่ผ่านมาปรับดีขึ้น รวมทั้งกลุ่มอิเล็กทรอนิคที่ได้ปัจจัยบวกการเจรจาการค้าของสหรัฐฯกับจีนที่คืบหน้า
โดยภาพรวม KTBST มองว่า ด้วยปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังรอความชัดเจนทำให้ดัชนีอาจแกว่งตัวผันผวน โดยระดับดัชนีที่ 1,600 จุดเป็นแนวต้านที่สำคัญหากขึ้นไปยืนเหนือ ระดับดังกล่าวได้ จะเป็นผลบวกทางด้านจิตวิทยา และมองแนวรับที่ 1,583 จุด สัปดาห์นี้ ส่วนการลงทุนอาจต้องรอดูความชัดเจนของทิศทางตลาด หรือ เน้นลงทุนในจังหวะสั้นๆ หุ้นที่น่าสนใจคือกลุ่มท่องเที่ยว อสังหาฯ และกลุ่มอิเล็กทรอนิค ที่ได้ปัจจัยผลบวกจากสงครามการค้า แต่กลุ่มที่ต้องระวัง ได้แก่ กลุ่ม สื่อสาร และกลุ่มโรงพยาบาล ที่ต้องติดตามดูความชัดเจนเรื่องของการควบคุมราคายาของโรงพยาบาล
ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ KTBST ยังให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นและจีน รวมถึงกองทุนอสังหาริมทรัพย์ประเภทโครงสร้างพื้นฐานหรือ REIT ที่ให้ผลตอบแทนน่าสนใจ และตราสารหนี้ประเภท FiXed Income ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวน
โดยชาตรี โรจนอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์
บล. เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (KTBST)
ติดตามข่าวสารการลงทุนได้จาก ”มุมความรู้” https://www.ktbst.co.th/th/knowledge.php
www.mitihoon.com