มิติหุ้น-ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 50 – 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 60 – 65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (21 – 25 ม.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่คาดจะตึงตัวอย่างต่อเนื่อง หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มจะปรับลดลงจากเดือนธ.ค. 61 ตามข้อตกลงปรับลดปริมาณการผลิตที่เริ่มขึ้นในเดือนนี้ ประกอบกับ ปริมาณการผลิตจากแคนาดาที่คาดจะปรับลดลงราว 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังรัฐบาลได้ประกาศให้ผู้ผลิตลดปริมาณการผลิตในปี 2562 เพื่อลดภาวะอุปทานน้ำมันล้นตลาดภายในประเทศ นอกจากนี้ เศรษฐจีนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลส่งสัญญาณเตรียมที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็วนี้ อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้ง ขณะที่ สหราชอาณาจักรประสบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอน หลังข้อตกลงถอนตัวออกจากยูโซน (BREXIT) ของนายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ได้ถูกปฏิเสธ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ปริมาณการผลิตจากกลุ่มผู้ผลิตโอเปกมีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังซาอุดิอาราเบียได้ประกาศว่าจะปรับลดปริมาณการผลิตไปสู่ระดับ 10.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ม.ค. 62 ซึ่งถือว่าเป็นการปรับลดมากกว่าที่ตกลงไว้ราว 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตจากประเทศลิเบียมีแนวโน้มปรับลดลงจากเดือนที่ผ่านมาเช่นกัน เนื่องด้วยแหล่งน้ำมันดิบ El Sharara ที่มีกำลังการผลิตราว 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ยังคงถูกปิดชั่วคราว อย่างไรก็ตาม แหล่งผลิตดังกล่าวมีแนวโน้มจะกลับมาเปิดดำเนินการในเร็วนี้ หากรัฐบาลสามารถบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มผู้ประท้วงได้สำเร็จ
- การปรับลดปริมาณการผลิตราว 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในประเทศแคนาดา ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบแคนาดาปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ต.ค. 61 ราคาน้ำมันดิบของประเทศแคนาดาอยู่ในระดับต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ราว 40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม การปรับลดปริมาณการผลิตทำให้ส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบสหรัฐฯ และแคนาดาปรับลงมาอยู่ราว 7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในเดือนม.ค. 62
- เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น หลังรัฐบาลจีนส่งสัญญาณออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้ง หลังการส่งออกและนำเข้าในเดือนธ.ค. 61 หดตัวลงถึงร้อยละ 4.4 และ 7.6 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้ตลาดโลกกังวลว่าเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอาจเผชิญหน้ากับการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนครั้งนี้อาจใช้มาตรการลดหย่อนภาษีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 296 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบกับ การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเงินลงทุนจากพันธบัตรพิเศษของรัฐบาลจีนเข้าสู่โครงการต่างๆ
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่ โรงกลั่นในสหรัฐฯ ได้ปรับลดกำลังการกลั่นและมีแนวโน้มที่จะปรับลงอย่างต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ เริ่มทยอยเข้าสู่ฤดูกาลปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้น้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงราว 2.7 ล้านบาร์เรล
- จับตาสถานการณ์ในสหราชอาณาจักร หลังแผนการตกลง BREXIT ที่นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ถูกปฏิเสธโดยเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งนับเป็นการพ่ายแพ้ด้วยคะแนนเสียง 202 ต่อ 432 ส่งผลให้ประเทศอังกฤษอาจต้องถอนตัวจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น หรืออาจยกเลิก BREXIT หากไม่สามารถเสนอแผน BREXIT ฉบับใหม่ได้ภายในเวลาที่กำหนด
- ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศในไตรมาส 4 ของจีน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ และยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 – 18 ม.ค. 62)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 53.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 59.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากตลาดที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตโอเปกในเดือนธ.ค. 61 ปรับลดลงกว่า 750,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนพ.ย. 61 ประกอบกับ เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำม้นของจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น หลังรัฐบาลส่งสัญญาณที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในเร็วนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นราว 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ที่ผ่านมาแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 11.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึง สถานการณ์ในสหราชอาณาจักรยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง หลังการเจรจาข้อตกลง BREXIT ยังคงไร้ข้อสรุป
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์
โดย บมจ.ไทยออยล์
www.mitihoon.com