อันดับที่ 1 JKN ตั้งเป้ารายได้ปี 62 โต 20% อัดงบ 800 ลบ.ลุยผลิตคอนเท้นต์ป้อนทั้งใน-ตปท.
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย หรือ JKN โดยนายธีรภัทร์ เพ็ชรโปรี ผู้อำนวยการสายการเงินและบัญชี เปิดเผยว่า ตั้งเป้ารายได้ปี 62 เติบโตอยู่ที่ 20% จากปีก่อน โดยบริษัทจะมุ่งเน้นขยายช่องทางผลิตคอนเท้นต์ใหม่เพิ่มมากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งในช่วงไตรมาส 2/61 บริษัทจะได้ข้อสรุปกับช่องที่วีดิจิทัลอีกจำนวน 5 ราย ซึ่งในปีนี้บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ราว 800 ล้านบาทเพื่อใช้ในการผลิตคอนเท้นต์ให้กับลูกค้ามากขึ้น ขณะเดียวกัน บริษัทได้ใช้งบลงทุนอีก 50 ล้านบาท เพื่อลงทุนในการสร้างสตูดิโอเพื่อใช้ผลิตคอนเท้นต์ด้านตลาดเงินและตลาดทุนผ่างช่อง CNBC ในประเทศไทย โดยคาดว่าจะสามารถออกอาการได้ในช่วงปลายไตรมาส 2/62 ทั้งนี้บริษัทมีความสนใจเข้าไปเจรจากับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อผลิตคอนเท้นต์ผ่านช่องทางดังกล่าว
อันดับที่ 2 TU ราคาเด้ง 5.17% โบรกฯ คาดปี 62 กำไรสุทธิกลับมาโตแรง 52.4% เคาะเป้าซื้อ 20 บาท
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ราคาหุ้น บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป หรือ TU ในช่วงบ่าย ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาแตะระดับ 18.30 บาท (14.31 น.)เพิ่มขึ้น 0.90 บาท หรือ 5.17% จากช่วงเช้าที่ขึ้นมาแตะระดับ 18.20 บาทต่อหุ้น ขณะที่มูลค่าซื้อขายกหนาแน่นกว่า 380 ล้านบาท ด้าน บล.ฟินันเซียไซรัส คาดกำไรปกติไตรมาส 4/2561 จะลดลงจากไตรมาสก่อน ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล แต่โตดีเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ราคาปลาทูน่าจะปรับลงแรง แต่ด้วยการบริหารจัดการสต็อกที่ดี กอปรกับค่าเงินบาททรงตัว เอื้อต่อการค้าขายและแข่งขัน ทำให้ปริมาณขายเติบโตได้ดี หนุนให้รายได้ยังเติบโตได้ และมีอัตรากำไรขั้นต้นฟื้นตัวได้ดีด้วย
อันดับที่ 3 NER ตั้งเป้าปี 62 ตามปริมาณขาย – ราคายางเพิ่มขึ้น พร้อมเดินหน้าขยายตลาดต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. นอร์ทอีส รับเบอร์ หรือ NER โดยนายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยถึง ราคายางพาราที่มีการฟื้นตัวเพิ่มขึ้นจากปลายปี 2561 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการยางส่งออกยางในประเทศที่มีความต้องการยางธรรมชาติเพื่อการส่งออกเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากปริมาณยางธรรมชาติในคลังสินค้าของผู้ส่งออกลดลงในช่วงก่อนหน้า ทำให้ผู้ส่งออกมียางธรรมชาติไม่เพียงพอในการส่งออก จึงต้องเร่งซื้อยางเพื่อส่งออกและรักษาระดับสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับปกติ อีกทั้งรัฐบาลจีนได้เพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจยางของจีน ทำให้บริษัทได้รับอนิสงส์จากเรื่องนี้ เนื่องจากบริษัทได้กำหนดราคาในวันที่ทำการซื้อ- ขายกับลูกค้า และมีกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเข้ามาเสริมด้วย
อันดับที่ 4 TPCH ผนึกทุนใหญ่ไทย-ตปท. ประมูลขยะ42MWวันนี้!
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง หรือ TPCH ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทต่างๆโดย “แหล่งข่าววงการอุตสาหกรรม” เผยว่า ล่าสุด TPCH ได้ส่งบริษัทย่อยที่ถือหุ้น 50% อย่าง “บจ.สยาม เพาเวอร์หรือ SP” ร่วมทุนกับพันธมิตรรายใหญ่จากประเทศจีน และรายใหญ่ในไทยเป็นที่เรียบร้อย เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าประมูล “โรงไฟฟ้าขยะชุมชนหนองแขมและอ่อนนุช” ขนาด 42 MW (21 MW/แห่ง) ในสัปดาห์นี้ ด้าน “นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล” กรรมการผู้จัดการใหญ่ เผยว่า วันนี้ (21ม.ค.61) บริษัทย่อย SP จะยื่นประมูล “โรงไฟฟ้าขยะชุมชนหนองแขมและอ่อนนุช” ขนาด 42 MW มูลค่าลงทุนโครงการละ 6.7 พันล้านบาท ซึ่งบริษัทคาดหวังจะได้รับส่วนแบ่งโครงการ คาดน่าจะใช้เวลาประมาณ 150 วัน หรือประมาณไตรมาส 2-3/62 จะประกาศผู้ชนะการประมูล
อันดับที่ 5 หุ้นเฮลท์แคร์ยังมีดี บลจ.กรุงศรี โฟกัสระยะยาวมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า น.ส.ศิริพร สินาเจริญ กรรมการผู้จัดการ บลจ.กรุงศรี หรือ KSAM เปิดเผยว่า บริษัทเล็งเห็นถึงศักยภาพและโอกาส ในการสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว จากการลงทุนในหุ้นกลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ(Healthcare) แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความผันผวนอยู่บ้าง แต่ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ยังมีความแข็งแกร่งและมีโอกาสเติบโตที่ดี เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ โดยปัจจัยสนับสนุนในระยะสั้น ได้แก่ ความกดดันเรื่องการตั้งราคายาได้ผ่อนคลายลง และราคาหุ้นอยู่ในระดับที่มีความเหมาะสม ด้านปัจจัยสนับสนุนระยะกลาง ได้แก่ นวัตกรรมและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี บริษัทขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมมีเงินสดในมือสูง นำไปสู่การควบรวมกันของบริษัทในอุตสาหกรรม และการซื้อหุ้นคืนเพื่อเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น
www.mitihoon.com