เทียบฟอร์ม KBANK – SCB

1974

ปัจจัยบวก ความชัดเจนการเลือกตั้งที่นักลงทุนรอคอยมาแล้ว หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 ตลาดหุ้นตอบรับทันควัน ดัชนีเขียวพรึ่บ หุ้นพื้นฐานขนาดใหญ่เด้งถ้วนหน้า รวมทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ถูกเทขายออกมาหลังมีการประกาศงบไตรมาส 4 และทั้งปี 61 ออกมา

หุ้นแบงก์ขนาดใหญ่ นักลงทุนพุ่งเป้าไปที่ BBL, KBANK, SCB และ KTB แต่วันนี้ “แทงตัวตรง” จะเปรียบเทียบข้อมูลระหว่าง KBANK กับ SCB มาให้ดูกัน (ตาราง)

ส่วนโบรกเกอร์จะมีมุมมองต่อ 2 แบงก์อย่างไรนั้น ในส่วนของ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ประเมินแนวโน้ม KBANK โดยระบุว่า สินเชื่อของ KBANK ปี 61 เพิ่มขึ้น 5.6% และในปี 62 ธนาคารยังคงเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อเติบโต 5-7% เช่นเดิม โดยจะเน้นปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลตอบแทนสินเชื่อมาชดเชยรายได้ค่าธรรมเนียมที่อาจจะยังลดลงจากการฟรีค่าธรรมเนียมการโอนเงินช่องทางดิจิทัล

ทั้งนี้ คาดว่ารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในปี 62 จะลดลง 6-8% จากผลกระทบฟรีค่าธรรมเนียม และธุรกิจประกันอาจจะยังไม่ฟื้นตัว จึงปรับลดประมาณการกำไรลงเหลือ 3.95 หมื่นล้านบาท ปรับราคาพื้นฐานลงเหลือ 227 บาท แต่ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ”

ด้าน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินแนวโน้ม SCB โดยผู้บริหารของธนาคารคาดว่า SCB จะบันทึกค่าใช้จ่ายพนักงานตามเกณฑ์เกษียณอายุใน Q1/62 โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวราว 1,500 ล้านบาท ซึ่งหากรวมในคาดการณ์ คาดว่ากำไรสุทธิ Q1/62 จะอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ลดลง 12% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่คาดกำไรทั้งปี  62 อยู่ที่ 4.14 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จากปี 61 โดยคาดสินเชื่อโต 6%, NIM อยู่ที่ 3.27%, Credit Cost 1.3%

ทั้งนี้ ในระยะสั้น SCB ขาดปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้น และปี 62 คงยังเห็น cost push โดยคงราคาเป้าหมายที่ 137 บาท คงคำแนะนำ “ถือ”