มิติหุ้น – กกพ.เร่งออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชน 100 MW ไตรมาส 2/62 พร้อมคาดเปิดประมูลขยะชุมชนค้างท่อ78 MW ได้หมดภายในเดือนมี.ค.62 เร่งสรุปรายละเอียดการประมูลขยะชุมชนใหม่ 400 เมกะวัตต์
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อยู่ระหว่างรอหนังสือมติจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีการประชุมเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 62 ที่ผ่านมา เพื่อนำมาพิจารณาในรายละเอียดตามที่ประชุม กพช.ต่อไป
โดยนางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการ กกพ. เผยว่า กกพ.อยู่ระหว่างรอหนังสือจากกพช.แจ้งอย่างเป็นทางการเรื่องอนุมัติแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2018) แล้วถึงจะดำเนินร่างรายละเอียดหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนที่จะนำร่อง 100 เมกะวัตต์ในปีแรก จากที่ประกาศส่งเสริมตามแผน PDP 10,000 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนในการจัดทำรายละเอียด และคาดว่าจะสามารถประกาศเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอรับซื้อไฟฟ้าได้ไตรมาส 2/62 หลังจากนั้นจะใช้ระยะเวลาในการคัดเลือกผู้ผ่านคุณสมบัติประมาณ 4 เดือนและคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ โดยกำหนดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนส่วนเพิ่มหน่วยสุดท้ายที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) รับซื้อจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 1.60-1.80 บาทต่อหน่วย
นอกจากนี้ กกพ.ยังเตรียมออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเพิ่มเติม โดยจะต้องดูรายละเอียดในแผน PDP ฉบับใหม่ ที่มีมติขยายการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนอีก 400 เมกะวัตต์ ในปี2580 จากแผนพีดีพีเดิม ที่กำหนดรับซื้อ 500 เมกะวัตต์ ในปี 2579 และรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมอีก 44 เมกะวัตต์ จากแผนพีดีพีเดิม กำหนดรับซื้อ 50 เมกะวัตต์ ซึ่ง กกพ.จะต้องนำมาพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดว่าใน 400 เมกะวัตต์ จะแบ่งเป็นการรับซื้อในรูปแบบของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP) และโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก(VSPP) ในปริมาณเท่าไหร่ และจะเริ่มทยอยเปิดโครงการรับซื้ออย่างไร
โดย กกพ.คาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้ จะสามารถออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าขยะชุมชน ในรูปแบบ SPP หรือ มีกำลังผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ได้ ซึ่งจะเป็นการรับซื้อไฟฟ้าตามสัดส่วนในแผนพีดีพีเดิม ทั้งนี้ เบื้องต้นในส่วนของพื้นที่ที่มีศักยภาพจะดำเนินการเปิดประมูลในรูปแบบโรงไฟฟ้าขยะSPP ได้ก่อนในพื้นเขตกรุงเทพฯ ที่เขตหนองแขม และอ่อนนุช รวมกำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ โดยมีอัตราเงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FIT) อยู่ที่ 3.66 บาทต่อหน่วย ภายใต้สัญญาซื้อไฟฟ้า 20-25 ปี