มิติหุ้น – KSL เลื่อนนำ BBGI เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นปี 63 หวังสร้างมูลค้าเพิ่มให้ได้มากก่อนเข้าตลาด ชี้แผนพีดีพีไม่ได้เอื้อขายไฟฟ้าชีวมวล ส่วนการหีบอ้อยปีนี้ 10.50 ล้านตันอ้อย หนุนผลงานโตแกร่ง
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.น้ำตาลขอนแก่น หรือ KSL โดยนายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการบริหาร เผยถึงความคืบหน้าการนำ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (BBGI) ซึ่งเป็นบริษัทที่ควบรวมระหว่างธุรกิจชีวภาพของบางจากฯ และธุรกิจเอทานอลของ บมจ.น้ำตาลของแกน หรือ KSL โดยบางจากฯ ถือหุ้นสัดส่วน 60% และ KSL ถือหุ้น 40% ว่า บริษัทมีแผนเลื่อนนำ BBGI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไปเป็นปี 63 จากกำหนดการเดิมจะนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงไตรมาส1/62 เนื่องจากต้องสร้างสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัท BBGI ก่อนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
โดยการดำเนินการขยายการลงทุนของ BBGI ได้ดำเนินการเป็นไปตามแผน โดยล่าสุดได้ขยายกำลังการผลิตไบโอดีเซลปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ 9.3 แสนลิตรต่อวันขยายเป็น 1 ล้านลิตรต่อวันใช้เงินลงทุนราว 50 ล้านบาท ซึ่งมองว่าหากรัฐบาลสามารถส่งเสริมการใช้ B20 ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตได้อย่างดีในปี 63
ขณะที่เอทานอลตามสัดส่วนการถือหุ้นจาก 500,000 ลิตรต่อวันเป็น 800,000 ลิตรต่อวันภายในปี 2562 ใช้เงินลงทุนราว 1,500 ล้านบาท และมีเป้าหมายขยายเป็น 1 ล้านลิตรต่อไป โดยในเบื้องต้นอยู่ระหว่างการพิจารณาทางเลือกในการขยายกำลังการผลิต เช่น ซื้อโรงงานเอทานอล หรือขยายกำลังการผลิตจากวัตถุดิบของบริษัทที่มีรองรับเพียงพอต่อการขยายกำลังการผลิต
ส่วนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2018) ในการรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล 3,376 เมกะวัตต์ ซึ่งแผนพีดีพีเป็นการเปิดประมูลทั่วไปไม่ได้จำกัดแค่ผู้ประกอบการที่มีวัตถุดิบ เทคโนโลยีที่พร้อม ดังนั้นจะส่งผลให้เกิดการแข่งขันกันสูงส่งผลให้ราคารับซื้อไฟฟ้าต่ำลง มีการแย่งวัตถุดิบกันมากขึ้น ซึ่งหน้าจะจำกัดให้ผู้ประกอบการที่มีความพร้อมวัตถุดิบ และเทคโนโลยีแข่งขันกันโดยเฉพาะมากกว่า อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าชีวมวลราว 270 เมกะวัตต์ขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ราว 40 เมกะวัตต์และมีศักยภาพที่จะขายให้กฟภ.อีกประมาณ 60 เมกะวัตต์
ส่วนปริมาณการหีบอ้อยของฤดูกาลนี้ (พ.ย.61-เม.ย.62) จะอยู่ที่ 10.50 ล้านตันอ้อย ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อนที่ 11 ล้านตันอ้อย ขณะภาพรวมปริมาณการหีบอ้อยของไทยจะอยู่ที่ 125 ล้านตันอ้อยจากปีก่อนอยู่ที่ 135 ล้านตันอ้อย แม้จะลดลงแต่ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นที่ระดับ 750,000 ตันของยอดขายรวมที่ 1 ล้านตันซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ผลประกอบการออกมาดี