5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้นภาคบ่าย

119

อันดับที่ 1 IRPC มั่นใจปี 61 กำไรจากการดำเนินงานยังโตแกร่ง แม้โดนผลกระทบจากสต็อกน้ำมัน ลุยร่วมทุนบริษัทจีนทำเทรดดิ้งผลิตภัณฑ์พลาสติก

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC ผู้ประกอบการโรงกลั่นและปิโตรเคมี โดยนายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ มั่นใจว่ากำไรจากการดำเนินงานปี 61 จะเติบโตได้ดีกว่าปี 60 ที่ทำได้กว่า 8 พันล้านบาท เนื่องจากรับรู้รายได้จากโครงการที่ได้ขยายการลงทุนและสร้างเสร็จในปี 60 ทำให้รับรู้ผลการดำเนินได้เต็มปี ไม่ว่าจะเป็นโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (UHV) ของโรงกลั่น และการขยายกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน (PP) อีก 3 แสนตันต่อปี และโรงไฟฟ้าไออาร์พีซี คลีน เพาเวอร์ ขนาด 240 เมกะวัตต์ (MW) แล้วเสร็จ  รวมถึงโครงการ Everest forever ซึ่งเป็นโครงการที่จะดำเนินการต่อจากโครงการ EVEREST เพื่อเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในทุกด้าน

อันดับที่ 2 PTTEP งบปี 61 กำไร 3.6 หมื่นลบ.  สูงกว่าปีก่อนที่กำไร 2.05 หมื่นลบ. ตามปริมาณการขายและราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยสูงขึ้น

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายางนว่า บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP  โดยนายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ เผยว่า  ผลประกอบการปี 2561 มีกำไรสุทธิ 1,120 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 36,206 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 89% จาก 594 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เทียบเท่า 20,579  ล้านบาท) ในปี 2560 โดยหลักจากปริมาณการขายและราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยสูงขึ้น พร้อมลงทุนตามแผนกลยุทธ์ ผลักดันการตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายของโครงการหลัก เร่งกิจกรรมสำรวจเพื่อเพิ่มปริมาณปิโตรเลียมสำรอง และมุ่งลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง

อันดับที่ 3 SCC กำไร 61 วูบ 23% จากปีก่อน ธุรกิจเคมิคอลส์กดดันหนัก ใจดีแจกปันผลเป็นเงินสด 9.50 บ./หุ้น ขึ้น XD 3 เม.ย.62

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย  หรือ SCC โดย นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า บริษัทแจ้งผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อย ปี 2561 มีกำไรสุทธิ 44,748.33 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 55,041.24 ล้านบาท  ลดลง 10,293 ล้านบาท หรือ 23% ตามผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมิคอลส์  ส่วนรายได้จากการขาย ทำได้  478,438 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากปริมาณขายสินค้าของทุกกลุ่มธุรกิจเพิ่มขึ้น  โดย ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 เอสซีจีมีสินทรัพย์รวม เท่ากับ 589,787 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2560 จำนวน 16,375 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทได้มีมติคณะกรรมการบริษัท อนุมัติการจ่ายเงินปันผล งวดดำเนินงานวันที่ 01 ม.ค. 2561 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2561 ในอัตราหุ้นละ 9.50 บาท  โดยมีวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 3 เม.ย.2562 วันที่จ่ายปันผล 19 เม.ย. 2562

อันดับที่ 4 WHA กางแผนปี 62 ตั้งเป้ารายได้ – ส่วนแบ่งกำไรโตกว่า 70% ลุยขายที่ดินเพิ่ม 1.6 พันไร่

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA โดยนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า แผนธุรกิจปี 2562 ตั้งเป้ารายได้และส่วนแบ่งกำไรจะเติบโตเพิ่มกว่า 70% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มโลจิสติกส์, กลุ่มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม, กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภคและพลังงาน และกลุ่มธุรกิจดิจิทัลแพลตฟอร์ม และคาดอัตราผลกำไรของ  EBITDA โตมากกว่า 30% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อทุน (D/E) ต่ำกว่า 1.1 เท่า โดยการดำเนินงานในกลุ่มโลจิสติกส์ เตรียมขยายพื้นที่อาคารคลังสินค้าระดับพรีเมี่ยมอีก 200,000 ตร.ม. ส่งผลให้มีพื้นที่ในการครอบครองและบริหารจัดการเพิ่มเป็น 2.5 ล้านตารางเมตร จากปีก่อน 2.3  ล้านตารางเมตร และมีโครงการที่อยู่ระหว่างเตรียมก่อสร้างในปีนี้ ได้แก่ โครงการดับบลิวเอชเอ อี-คอมเมิร์ซพาร์ค จ.ฉะเชิงเทรา โครงการดับบลิวเอชเอ-เจดี อี-คอมเมิร์ซ เซ็นเตอร์ และโครงการดับบลิวเอชเอ เมกะ โลจิสติกส์ เซ็นเตอร์ แหลมฉบัง 2

อันดับที่ 5 KKP ปรับกลยุทธ์เน้นมาร์จิ้น – วางเป้าสินเชื่อโต 8% คุม NPL ไม่เกิน 4%

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP วางเป้าหมายผลประกอบการปี 2562 ยังเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 6,041.98 ล้านบาท โดยนายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อปีนี้เติบโต 8% หรือคิดเป็นยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ราว 1.6-1.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งแม้จะเติบโตลดลงจากปี 2561 ที่สินเชื่อเติบโต 18% แต่ธนาคารจะเน้นกลุ่มสินเชื่อที่มาร์จิ้นสูง และมีความเสี่ยงต่ำ ทั้งนี้ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ทั้งรถยนต์ใหม่ รถยนต์มือสอง และสินเชื่อจำนำทะเบียน เนื่องจากยังเป็นกลุ่มสินเชื่อที่สร้างผลตอบแทนค่อนข้างสูง ซึ่งปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อคงค้างของสินเชื่อเช่าซื้อประมาณ 1.4 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 47% ของพอร์ตสินเชื่อรวม แต่คาดว่าสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อในปีนี้จะลดลงเหลือ 45% เนื่องจากสินเชื่อประเภทอื่นๆก็ยังมีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเพื่อการลงทุน หรือ Lombard Loan

www.mitihoon.com