ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าจากกรณีพายุโซนร้อนปาบึกพัดถล่มทางภาคใต้ของประเทศไทยจนก่อให้เกิดความเสียหายในหลายพื้นที่ สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยผู้ประสบภัย จึงได้บูรณาการการทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคธุรกิจประกันภัยเพื่อติดตามดูแลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การป้องกัน เยียวยา และฟื้นฟู ผ่านหลายมาตรการ และยังได้มีการออกคำสั่งนายทะเบียน เพื่อให้การพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งอุตสาหกรรมประกันภัย รวมถึงให้ผู้เอาประกันภัยที่ประสบภัยได้รับค่าสินไหมทดแทนรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยให้มีผลบังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2562 พร้อมกันนี้ยังได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรม CSR มอบสิ่งของเครื่องใช้และถุงยังชีพ ตลอดจนร่วมทำกิจกรรม Big Cleaning ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย นั้น
ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการ คปภ. ครั้งที่ 1/2562 เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเก็บเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันภัยรถยนต์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศฯ ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัย และประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ประสบภัยและได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนปาบึก
โดยสาระสำคัญคือการเพิ่มระยะเวลาการชำระเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยรถยนต์ในระหว่างวันที่ 3 มกราคม – 3 มีนาคม 2562 ให้บริษัทประกันภัยเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยรถยนต์ภายใน 30 วัน นับแต่วันทำสัญญาประกันภัย หรือวันที่สัญญาประกันภัยเริ่มต้นให้ความคุ้มครอง ซึ่งเดิมประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเก็บเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันภัยรถยนต์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้บริษัทประกันภัยเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยและรับชำระเบี้ยประกันภัยจากผู้ขอเอาประกันภัยให้ครบถ้วน ก่อนการทำสัญญาประกันภัยหรือก่อนสัญญาประกันภัยเริ่มต้นมีผลคุ้มครอง
“สำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุปาบึกเป็นอย่างยิ่ง และจะให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยอย่างเต็มที่ ซึ่งประกาศฯ ฉบับนี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยพายุโซนร้อนปาบึกให้มีเวลาในการชำระเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ อยากฝากเตือนว่าอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนหันมาให้ความสำคัญกับการทำประกันภัย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด และสามารถช่วยแบ่งเบาภาระความเดือดร้อน หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าว