อีซีบีและเฟด ความเหมือนที่แตกต่าง

158

ในการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) รอบล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา นายมาริโอ ดรากี ประธานอีซีบียอมรับว่าเศรษฐกิจยูโรโซนอาจชะลอตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ ท่ามกลางผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของจีนและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับรูปแบบการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) และแม้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการขยายขนาดงบดุลด้วยการซื้อสินทรัพย์ หรือ Quantitative Easing (QE) ปิดฉากลงในปี 2561 อีซีบียังแสดงท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้แผนการขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 ปี ซึ่งจากเดิมได้ส่งสัญญาณว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ อย่างไรก็ดี อีซีบีระบุว่าภาวะแข็งแกร่งของตลาดแรงงานและค่าจ้างที่ขยายตัวจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระยะกลาง

หันมาดูทางด้านธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในระยะหลังเริ่มปรับการสื่อสารว่าไม่เพียงแต่จะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ช้าลงเท่านั้น แต่ได้แสดงแนวคิดเกี่ยวกับการชะลอการลดขนาดงบดุลของเฟดด้วย นั่นคือ เฟดอาจกำลังเตรียมลดระดับการคุมเข้มนโยบายซึ่งครอบคลุมถึง Quantitative Tightening (QT) อย่างอดทนและรอบคอบ

เมื่อมองจากมุมของตลาดการเงิน เราตั้งข้อสังเกตว่าตลาดดอกเบี้ยได้สะท้อนรับการคาดการณ์เรื่องทิศทางนโยบายของเฟดและอีซีบีไปมากกว่าตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยสัญญาดอกเบี้ยล่วงหน้า ณ วันที่ 28 มกราคม 2562 บ่งชี้ว่ามีโอกาสเพียง 25% เท่านั้นที่เฟดจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยหนเดียวตลอดทั้งปี 2562 ขณะที่ความน่าจะเป็นสำหรับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของอีซีบีก่อนสิ้นปีนี้อยู่ที่ 40% ความน่าจะเป็นดังกล่าวลดลงจากการคาดการณ์ของตลาด ณ สิ้นเดือนกันยายน 2561 ที่ว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2562 ราว 1-2 ครั้ง และโอกาสการเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยของอีซีบีอยู่ที่ 60%

แม้เครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจต่างๆ สะท้อนว่าเขตยูโรโซนกำลังเติบโตอย่างเชื่องช้าทำให้ตลาดไม่มั่นใจว่าอีซีบีจะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2562 ตามที่เคยส่งสัญญาณไว้หรือไม่ แต่การลดคาดการณ์แนวโน้มการดำเนินนโยบายของเฟดในตลาดดอกเบี้ยนั้นถือว่ารุนแรงมากกว่า ขณะที่ปัจจุบันค่าเงินยูโรกลับซื้อขายที่ระดับต่ำกว่าเมื่อเดือนกันยายน 2561

เราประเมินว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินจะวิ่งเข้าสู่ระดับที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในตลาดดอกเบี้ยในที่สุด ส่วนการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมหาศาลของยูโรโซนซึ่งตรงข้ามกับการขาดดุลในสหรัฐฯ สนับสนุนมุมมองของเราที่ว่าการอ่อนค่าของเงินยูโรจากท่าทีเชิงระมัดระวังของอีซีบีจะเป็นไปอย่างจำกัดยกเว้นเสียแต่ว่าตัวเลขเศรษฐกิจในระยะถัดไปออกมาย่ำแย่กว่าคาด

โดยรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com