อันดับที่ 1 SENA รุกหนักอสังหาฯปี 62 ลุยเปิด 22 โครงการใหม่ ทั้งกทม.-ปริมณฑล และพื้นที่ EEC มูลค่า 2.4 หมื่นลบ. เป้ายอดขาย 1.96 หมื่นลบ. รายได้แตะ 8.27 พันลบ. นิวไฮรอบ 3 ปี
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ หรือ SENA โดย ดร.เกษรา ธัญลักษ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า ภาพรวมธุรกิจอสังหาปี62 คาดว่ายังโต 4-4.3% จากปีก่อนฃ โดยในส่วนของ SENA มีแผนเปิดโครงการใหม่ ทั้งใน กทม. ปริมณฑล และพื้นที่ EEC รวม 22 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 24,000 ล้านบาท เป็นแนวสูงใน กทม. 7โครงการ แนวราบ 7 โครงการ ส่วนพื้นที่ EEC ทั้งแนวราบและแนวสูง รวม 8 โครงการ สำหรับยอดขายในปี 62 ตั้งไว้ที่ 19,639 ล้านบาท และรายได้อยู่ที่ 8,278 ล้านบาท ทำนิวไฮในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ ยังมีโครงการร่วมทุนกับ ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ คอร์ป จากญี่ปุ่น ไม่น้อยกว่า 7 โครงการ มูลค่ารวม 16,600 ล้านบาท
อันดับที่ 2 SPRC ลั่นพร้อมปรับปรุงโรงกลั่นรองรับมาตรฐานยูโร5 เพิ่มกำลังการกลั่น 10,000 บาร์เรลต่อวันปลายปีนี้
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง หรือ SPRC ผู้ประกอบการโรงกลั่น โดยกวิชัย ชุณหสมบูรณ์ ผู้จัดการฝ่ายการเงินและการคลัง กล่าวว่า ในขณะนี้ SPRC อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับโรงกลั่นน้ำมันอื่นๆ ในการปรับคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่ง SPRC มีความพร้อมที่จะลงทุนในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดังกล่าวให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 ส่วนโครงการเพิ่มกำลังการผลิต ที่บริษัทฯ ได้แจ้งให้ทราบเมื่อปีที่ผ่านมา ขนะนี้การดำเนินการของโครงการนี้ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยจะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันจาก 165,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 175,000 บาร์เรลต่อวัน หรือเพิ่มขึ้น 10,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งโครงการนี้จะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2562 และจะสามารถดำเนินการเต็มกำลังการผลิตได้ในปี 2563 สำหรับธุรกิจค้าปลีก และปิโตรเคมีเป็นสิ่งที่ SPRC ให้ความสนใจ แต่ยังไม่มีข้อสรุปในขณะนี้
อันดับที่ 3 INGRS เข้าทำสัญญาตัวแทนจำหน่าย กับ ” Neuromeka” ของเกาหลี พร้อมประเมินอุตฯชิ้นส่วนยานยนต์ปีนี้โตเด่น วงในให้เป้า 1บ.
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. อิงเกรส อินดัสเตรียล (ไทยแลนด์) หรือ INGRS โดย นายฮามิดี บิน เมาลอด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า บริษัท Talent Synergy Sdn Bhd (TSSB) ซึ่งเป็น บริษัท ย่อยอีกแห่งของ Ingress Industrial (Malaysia) Sdn Bhd (IIM) ซึ่งเป็น บริษัท ย่อยของ INGRS ได้ทำสัญญาตัวแทนจำหน่ายกับ บริษัท Neuromeka จำกัด ทั้งนี้บริษัท Neuromeka จำกัด เป็น บริษัทชั้นนำของการพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกันใน ประเทศเกาหลี โดยจุดมุ่งหมายของสัญญานี้ คือ เป็นผู้จัดจำหน่าย COBOT (หุ่นยนต์ทำงานร่วมกัน) และระบบบูรณาการ สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียน อินเดียและประเทศกลุ่มอ่าว เพื่อยกระดับการดำเนินงานของอุตสาหกรรม 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับหุ่นยนต์อิสระ ด้านฝ่ายวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุว่า ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายต่ำกว่าราคาพาร์ 1 บาท และต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น 1.20 บาท ดังนั้น จึงประเมินว่า ราคาเป้าหมายเท่ากับราคาพาร์ 1 บาท เราคงแนะนำ “ถือ”
อันดับที่ 4 OSP กำไรมีแววพุ่ง 270% หลังมาร์จิ้นขายสูงปี๊ด แถมส่องประเทศใหม่หวังเจาะฐานลูกค้าเพิ่ม เป้า 28บ.
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่าบริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP โดย ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ ฃบล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า แนวโน้มกำไรสุทธิปีนี้จะทำได้ 3,320 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน ตามอัตราเร่งทั้งธุรกิจ Beverage, Personal Care และ OEM หลังผ่านช่วงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงแนะนำ ซื้อ โดยมีราคาเป้าหมาย 28 บาท โดยทางด้าน นางพรธิดา บุญสา รองกรรมการผู้จัดการสายการเงิน OSP ระบุว่า บริษัทมีความสนใจขยายตลาดไปยังต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษา ขยายตลาดกลุ่มเครื่องดื่มบำรุงไปยังประเทศใหม่ จากปัจจุบันที่มีมีตลาดหลัก ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา และ สปป. ลาว ได้มองหาโอกาสการขยายตลาดไปยังประเทศจีนและเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในปี 62 บริษัทมีเป้าหมาย 3 – 5 ปีข้างหน้า จะผลักดันสัดส่วนรายได้ต่างประเทศให้อยู่ที่ระดับ 20 – 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 16%
อันดับที่ 5 RATCH จ่อกู้เงินลงทุนโครงการ Riau ลุยหากำลังการผลิตเพิ่ม 750 MW
มิติหุ้น-RATCH จ่อเซ็นลงนามกู้เงินลงทุนโครงการ Riau มี.ค.นี้มูลค่าโครงการ 300 ล้านเหรียญฯ มั่นใจ COD ไตรมาส2/64 ปีนี้ลุยหากำลังการผลิตเพิ่ม 750 เมกะวัตต์ หนุนกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 8,350 เมกะวัตต์ ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายว่า บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง หรือ RATCH ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า โดยแหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เตรียมลงนามในสัญญากู้เงินในเดือน มี.ค. 62 เพื่อใช้ในการลงทุนโครงการการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม Riau กำลังผลิต 275 เมกะวัตต์ ในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง สำหรับเงินลงทุนจะใช้จาก 2 แหล่ง คือ เงินส่วนทุนประมาณ 25% และเงินกู้ประมาณ 75% ทั้งนี้หากขยายการลงทุนกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่ม 750 เมกะวัตต์ได้ตามเป้าจะส่งผลให้ RATCH มีกำลังการผลิตในมือหรือสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มเป็น 8,350 เมกะวัตต์ ขณะกำลังการผลิตไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิยช์ (COD) แล้วราว 6,600 เมกะวัตต์
www.mitihoon.com