BPP เต็งคว้าโซลาร์ลอยน้ำกฟผ. แตกไลน์เทรดดิ้งไฟฟ้าในญี่ปุ่น (19/03/62)

232

มิติหุ้น – BPP สนใจประมูลโครงการโซลาร์ลอยน้ำ กฟผ. พร้อมศึกษาลงทุนตามแผน PDP 2018 ลุยลงทุนญี่ปุ่นแตกไลน์ธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์ม รอลุ้นใบอนุญาตก่อนเริ่มดำเนินการในครึ่งปีหลัง 62 ปูทางขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่ม

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ หรือ BPP ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้า โดยนายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า การลงทุนตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 (PDP2018)  นั้น บริษัทฯ สนใจโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รวมถึงสนใจลงทุนในการผลิตไฟฟ้าพลังงานอาทิตย์บนผิวน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยตามแผน PDP คาดว่าจะมีการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำจากเอกชนในปริมาณ 700 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯพร้อมที่จะเข้าร่วมแข่งขัน เนื่องจากมีประสบการณ์เคยทำที่ประเทศจีน 50 เมกะวัตต์

แตกไลน์ธุรกิจ Energy Trading

ส่วนการลงทุนในญี่ปุ่น แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะปรับลดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าใหม่ แต่ยังให้ความสำคัญลงทุนอยู่ โดยบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการทำธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มระบบกลาง (Energy Trading) ในญี่ปุ่น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอใบอนุญาตเป็นผู้จัดจำหน่ายไฟฟ้าจากหน่วยงานที่กำกับดูและด้านพลังงานญี่ปุ่น คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงครึ่งหลังปี62 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

ปัจจุบัน BPP มีกำลังผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่น 13 โครงการ กำลังผลิตรวม 234 เมกะวัตต์ เป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด

กูรูชี้ BPP เต็งคว้าโซลาร์ลอยน้ำ

ด้านแหล่งข่าวนักวิเคราะห์หลักทรัพย์แห่งหนึ่ง กล่าวว่า โครงการโซลาร์ลอยน้ำของ กฟผ.ขนาดราว 45 เมกะวัตต์โครงการแรกที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กฟผ.เตรียมออกประกาศรายละเอียดเงื่อนไขการประมูล (TOR) ในวันที่ 15 พ.ค.62 มูลค่าลงทุนราว 2 พันล้านบาท มีหลายบริษัทให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็น บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL, บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ หรือ BGRIM รวมถึง BPP

โดยมองว่า BPP มีโอกาสได้งาน เนื่องจากมีซัพพลายเออร์ เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ โซลาร์ลอยน้ำที่เป็นพันธมิตรกันมายาวนาน สามารถลงทุนโครงการรูปแบบนี้ได้เป็นอย่างดี

www.mitihoon.com

BPP