มิติหุ้น – กกพ.ประกาศยื่นข้อเสนอรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนระยะแรก 100 MW พ.ค.นี้ คาดประกาศรายชื่อและลงนามซื้อขายไฟฟ้า มิ.ย.62 รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วยระยะเวลา 10 ปี หวังปีแรก 2 หมื่นครัวเรือน มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 4 พันล้านบาท ด้าน GUNKUL ชี้ได้อานิสงส์งาน EPC
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า คณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล กกพ. เผยว่า กกพ.เตรียมให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ออกประกาศลงทะเบียนรับข้อเสนอซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชน 100 เมกะวัตต์ปีแรกในเดือน พ.ค.62 และคาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาและลงนามซื้อขายไฟฟ้าได้เดือน มิ.ย. 62 โดยกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตรา 1.68 บาทต่อหน่วยระยะเวลา 10 ปี
อย่างไรก็ตาม ในระยะแรกที่เปิดรับซื้อไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ในปีแรกคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 20,000 ครัวเรือน คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในโครงการนี้มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 4,000 ล้านบาท และหากมีการลงทุนตามแผนส่งเสริมระยะ 10 ปี 1,000 เมกะวัตต์จะทำให้มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 40,000 ล้านบาท และจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่จะเป็นผู้ลงทุนให้กับประชาชน หรือประชาชนจะลงทุนเองก็ได้ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่เคยลงทุนในโซลาร์รูฟท็อปเสรี 100 เมกะวัตต์ในปี59 สามารถยื่นข้อเสนอเข้าร่วมโครงกาได้
สำหรับผู้ที่สนใจยื่นข้อเสนอเข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า,เป็นผู้ที่มีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายไม่เกิน 10 KW ต่อครัวเรือน แบ่งเป็นพื้นที่การไฟฟ้านครหลวงรวม 30 เมกะวัตต์ พื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครวม 70 เมกะวัตต์
ด้านนางสาวโศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL ผู้ประกอบการพลังงานทดแทน และระบบวิศวกรรม กล่าวว่า โครงการนี้จะเกิดประโยชน์กับบริษัทในแง่ของการเป็นผู้ดำเนินการติดตั้งระบบ (EPC) เนื่องจากบริษัทได้ดำเนินงานด้านติดตั้งโซลาร์เซลล์ทุกระบบอยู่แล้ว ส่วนจะเป็นผู้ลงทุนหรือไม่นั้นก็ต้องดูว่าจะคุ้มทุนหรืออย่างไร ซึ่งหากการลงทุนแล้วต้องการันตีว่าเจ้าของบ้านมีการใช้ไฟฟ้าตลอด 7 วันหรืออย่างน้อย 5 วันถึงจะคุ้มทุน
www.mitihoon.com