TMB Analytics ชี้การเลือกตั้งไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น เพราะหากย้อนกลับไปดูข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งช่วงปี 2544 เป็นต้นมา จะพบว่าอัตราการขยายตัวของการบริโภคเอกชนในช่วง 1 ไตรมาสก่อนและหลังเลือกตั้งไม่ได้ต่างกันมาก การบริโภคเอกชนขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 2.3% ในช่วงก่อน และ 2.2% ในช่วงหลังการเลือกตั้ง ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับลดลงจาก 6.7% เป็น 3.1% หลังการเลือกตั้ง แต่นโยบายของรัฐบาลใหม่จะใช้เวลาประมาณ 3-4 ไตรมาสกว่าจะส่งผลในการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน
นอกจากนี้ TMB Analytics ยังมองว่าการบริโภคภาคเอกชนปีนี้จะชะลอลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเร่งซื้อรถยนต์ไปในช่วงก่อนหน้านี้ ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ 3.5% ชะลอลงจาก 4.6% ในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีความหวังที่การลงทุนภาคเอกชนจะกลับมาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักได้ แม้ว่าที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนจะไม่ได้ตอบสนองต่อการเลือกตั้งเท่าใดนัก แต่ในปีนี้อาจแตกต่าง เพราะหากพิจารณาการลงทุนที่ผ่านมาของไทยจะพบว่ายังอยู่ในระดับต่ำ โดยระดับการลงทุนที่แท้จริงของไทยในปัจจุบันยังต่ำกว่าระดับก่อนวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อ 22 ปีก่อนเสียอีก อีกทั้ง อัตราการใช้กำลังการผลิต (CAPU) ของไทยก็เข้าใกล้ระดับเต็มกำลังการผลิตขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ที่มีการใช้อัตรากำลังการผลิตไปเกินกว่า 80% แล้ว นี่เป็นข้อบ่งชี้หนึ่งว่าประเทศไทยถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศในอนาคต
นอกจากนี้ สภาวะแวดล้อมอื่นๆก็เอื้อให้มีการลงทุน ทั้งอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ มาตรการดึงดูดการลงทุนของภาครัฐ อย่างเช่นสิทธิประโยชน์ในพื้นที่ EEC และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงการเดินทางเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ที่เห็นความคืบหน้าต่อเนื่อง อีกทั้ง ภาคธุรกิจเองก็มีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่เฉลี่ยเกินระดับ 50 มาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 และยอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่เพิ่มขึ้นแตะ 4 แสนล้านบาท ในปี 2561 สูงขึ้นจากปี 2560 ที่ FDI สุทธิอยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท
เครื่องบ่งชี้บอกว่าเอกชนพร้อมที่จะลงทุนแล้ว ดังนั้น ไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร หน้าที่สำคัญของรัฐบาลใหม่ก็คือทำให้การลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐเกิดความต่อเนื่อง ไม่สะดุด ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่เหมาะแก่การลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีเสถียรภาพด้านการเมืองและความชัดเจนต่อเนื่องของนโยบายรัฐ อีกทั้งการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรโดยการเพิ่มแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพของภาคธุรกิจให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้