SMT ออเดอร์พุ่งรับจีนลดVAT จ่อล้างขาดทุน-เป้าซื้อ3บ. (3/04/62)

121

มิติหุ้น – SMT รับเต็มๆ จีนหั่นภาษี VAT สินค้านำเข้าระลอกใหม่ คาดออเดอร์สินค้าพุ่ง ตั้งเป้ารายได้ปี 62 โต 40% ทะยานแตะ 2.4-2.5 พันล้านบาท ลุยจัดประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติล้างขาดทุนสะสมเกลี้ยง ทุ่มงบ 107 ล้านบาท ปรับปรุงเครื่องจักรรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ  โบรกฯ  เคาะเป้าเหมาะสม 3 บาท

 

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า จากกรณีจีนเริ่มดำเนินนโยบายปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับสินค้านำเข้าที่ลดลงจาก 16% เหลือ 13% สำหรับสินค้าแปรรูปทั่วไป และ 9% สำหรับสินค้าเกษตรที่ยังไม่แปรรูป คาดบริษัทที่ได้รับอานิสงส์ คือ บมจ.สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) หรือ SMT ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยนายกรทักษ์ วีรเดชะ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน เผยว่า ภาพรวมจากอัตราภาษี VAT ใหม่ของจีน คาดเป็นผลดีกับบริษัทที่จะได้รับสิทธิประโยชน์มากขึ้น จากที่ผู้บริโภคจะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

ออเดอร์แน่น – เป้ารายได้โต 40%
ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 62 เติบโตราว 40% หรือราว 2,400-2,500 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 1,811 ล้านบาท เนื่องจากมีคำสั่งซื้อทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่เข้ามาต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ตั้งเป้ารักษาอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยแผนปีนี้จะเน้นผลิตสินค้าที่มีมาร์จิ้นสูงเป็นหลัก และเน้นกระจายตัวของผลิตภัณฑ์มากขึ้น ถือเป็นการกระจายความเสี่ยง โดยสินค้าที่บริษัทจะเน้นเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มออโตโมทีฟ, กลุ่มดาต้าเซ็นเตอร์/คอมมูนิเคชั่น และกลุ่มเมดิคัล

 

ด้านนายพร้อมพงศ์ ไชยกุล กรรมการ SMT กล่าวว่า บริษัทมีแผนล้างขาดทุนสะสมจำนวน 590 ล้านบาท โดยในวันที่ 29 เม.ย.นี้ บริษัทจะเสนอผู้ถือหุ้นพิจารณา ซึ่งหากที่ประชุมอนุมัติจะทำให้เปิดโอกาสให้จ่ายปันผลได้ในระยะต่อไป
ล้างขาดทุนสะสมเกลี้ยง – เป้า 3 บาท
นอกจากนี้ ตั้งงบลงทุนปีนี้ 107 ล้านบาท เพื่อรองรับการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรให้สามารถรองรับเทคโนโลยีการผลิตรูปแบบใหม่ๆ ของลูกค้าได้อย่างเต็มความสามารถมากขึ้น
ด้านแหล่งข่าวนักวิเคราะห์ ประเมินธุรกิจ SMT จากบริษัทประกาศแผนล้างขาดทุนสะสมกว่า 500 ล้านบาทตั้งแต่ไตรมาส 1/62 โดยนำส่วนล้ำมูลค่าหุ้นทางบัญชีมาชำระ และไม่มีการตั้งสำรองใดๆ แล้ว ขณะที่ผู้บริหารตั้งเป้ารายได้ปี 62 เติบโต 40% และคาดกำไรจะโตสูงสุดในรอบ 5-6 ปี ดังนั้น แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 3 บาท