ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า กลุ่มทิสโก้เผยผลประกอบการไตรมาส 1/62 มีกำไรสุทธิ 1,730 ล้านบาท ลดลง 2.1% จากช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยนายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผยว่า การลดลงของกำไรสุทธิเป็นผลจากการลดลงของกำไรพิเศษจากเงินลงทุน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน รวมถึงภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายได้ของกลุ่มทิสโก้ชะลอตัวลง ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายจากการดำเนินธุรกิจปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านพนักงานเกษียณอายุเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่
สำหรับเงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 มี.ค.มีจำนวน 241,700 ล้านบาท เติบโต 0.4% จากสิ้นปี 2561 จากสินเชื่อบรรษัท สินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อจำนำทะเบียน ตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยสินเชื่อจำนำทะเบียน ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 5.2% จากสิ้นปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปตามแผนการขยายธุรกิจและการขยายสาขาสำนักอำนวยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.0% ในขณะที่บริษัทมีระดับการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพียงพอ โดยอัตราส่วนของเงินสำรองรวมของธนาคารต่อสำรองพึงกันตามเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงสูงถึง 220% โดยธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมาโดยตลอดทั้งปี โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.4% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 17.4% และ 5.0% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับอัตราผลตอบแทนส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ให้อยู่ในระดับสูงที่ 18% พร้อมกับประกาศจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 7 บาท สำหรับรอบผลประกอบการวันที่ 1 มกราคมถึง 31 ธันวาคม 2561 โดยเตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 29 เมษายน 2562 นี้
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.5% ปรับลดลงจากต้นปีที่คาดว่าจะขยายตัว 4.1% โดยมาจากทั้งปัจจัยภายนอก ได้แก่ เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้าที่ยังไม่สิ้นสุด ความเสี่ยงด้านการเมืองในแต่ละภูมิภาค เช่น Brexit ซึ่งทำให้ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทยเติบโตไม่มากนัก รวมถึงปัจจัยในประเทศที่ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่ยังต้องรอดูเสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งทิศทางการดำเนินธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 62 แม้บริษัทจะยังคงเดินหน้าขยายการเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจ แต่การดำเนินการจะต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง ปรับตัวและมองหาช่องทางในการสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อให้สามารถรักษาระดับการเติบโตของบริษัทไว้ได้