PORT ผู้ถือหุ้นไฟเขียวเพิ่มทุน RO ขยายธุรกิจ สร้างท่าเรือที่ 3 และลงทุนศูนย์กระจายสินค้า

55

ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT ผู้นำธุรกิจท่าเทียบเรือเอกชนเบอร์หนึ่งในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีมติเห็นชอบให้เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 138 ล้านหุ้น มูลค่า (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท เพื่อนำมาลงทุนสร้างท่าเรือแห่งที่ 3 และลงทุนโครงการศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ ต่อยอดธุรกิจ ก้าวสู่การเป็นผู้นำการให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร
โดยบริษัทฯจะจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 92 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right Offering-RO) ในอัตราส่วน 5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาหุ้นละ 4.00 บาท โดยกำหนดจองซื้อและชำระเงินในวันที่ 17 พฤษภาคม – 24 พฤษภาคม 2562 และจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนไม่เกิน 46 ล้านหุ้น เพื่อรองรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (วอร์แรนต์) รุ่นที่ 1 หรือ PORT – W1 ที่บริษัทฯ จะขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายในอัตราส่วน 2 หุ้นเพิ่มทุนต่อ 1 วอร์แรนต์ โดย PORT – W1 มีอายุ 3 ปี มีอัตราการใช้สิทธิวอร์แรนต์ต่อ 1 หุ้นใหม่ ที่ราคาใช้สิทธิ 6.50 บาท/หุ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังมีมติอนุมัติการจ่ายปันผล จากกำไรในส่วนที่ได้รับยกเว้นภาษี ในอัตรา 0.10 บาทต่อหุ้น เป็นเงินทั้งหมด 46,000,000บาท โดยกำหนดวันปิดทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นในวันที่ 30 เมษายน 2562 และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 21 พฤษภาคม 2562

นางเสาวคุณ ครุจิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สหไทย เทอร์มินอล จำกัด (มหาชน) หรือ PORT กล่าวว่า “ ตามที่บริษัทฯ มีแผนจะขยายธุรกิจท่าเรือและโลจิสติกส์แบบครบวงจร เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจของบริษัท และทำให้ผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่องอย่างมั่นคง โดยการลงทุนสร้างท่าเรือพาณิชย์แห่งที่ 3 และขยายศูนย์กระจายสินค้า ทำให้บริษัทฯมีความจำเป็นต้องเสนอขอเพิ่มทุน เพื่อนำมาลงทุนในโครงการต่างๆที่กำลังจะเริ่มดำเนินการ และยังนำมาเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทฯ ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งนี้ทางบริษัทฯก็คาดว่าน่าจะเพียงพอสำหรับการขยายในระยะเวลา 3-5 ปี ”
สำหรับการเพิ่มทุนในครั้งนี้บริษัทฯจะนำเงินดังกล่าวไปเพื่อใช้ ลงทุนใน (1) บริษัท บางกอก ริเวอร์ เทอร์มินอล จำกัด (BRT) ร่วมกับบริษัท APM Terminals จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ A.P. Moller-Maersk สายเรืออันดับหนึ่งของโลก และกลุ่มน้ำตาลมิตรผลซึ่งเป็น 1 ในผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดของไทย เพื่อสร้างท่าเรือพาณิชย์แห่งที่ 3 รองรับการขยายตัวของการนำเข้าและส่งออกของประเทศที่เพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทฯจะมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 38 ส่วนบริษัท APM Terminals จำกัด และ กลุ่มมิตรผล ถือหุ้น ร้อยละ 33 และ 29 ของทุนจดทะเบียนตามลำดับ ซึ่งการลงทุนใน BRT จะเพิ่มความสามารถในการให้บริการท่าเรือได้อีกประมาณ 180,000 TEUs/ปี รวมกับความสามารถในการให้บริการเดิมของบริษัทฯและบริษัทย่อย เป็น 920,000 TEUs/ปี หรือเพิ่มขึ้นราว 24%
(2) ลงทุนใน บริษัท บางกอก โลจิสติกส์ พาร์ค จำกัด ร่วมกับ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (“FRASERS”) (ชื่อเดิม คือ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเนคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำการให้บริการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรมของไทย โดยบริษัทฯและ FRASERS มีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 25 และร้อยละ 75 ของทุนจดทะเบียนตามลำดับ เพื่อลงทุนพัฒนา และบริหาร โครงการโลจิสติกส์พาร์ค และศูนย์กระจายสินค้าบนพื้นที่กว่า 50 ไร่ ในเขตพื้นที่ขอบเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ที่มีการเติบโตแบบก้าวกระโดดสอดรับเทรนด์ธุรกิจยุคดิจิทัล