GUNKUL ย้ำชัด!กำไรโตทุกไตรมาส จ่อฮุบโซลาร์เวียดนาม-เป้า700MW (10/05/62)

365

มิติหุ้น – GUNKUL การันตีกำไรโตทุกไตรมาส รายได้ทะลุ 8 พันล้านบาท หลังสะสม Backlog งาน EPC กว่า 7 พันล้าน พร้อมประมูลงานใหม่กว่า 5 พันล้านบาทเติมรายได้ ขณะธุรกิจไฟฟ้า จ่อสรุปลงทุนโซลาร์เวียดนามเพิ่มกว่า 50 เมกะวัตต์

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GULKUL ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และรับเหมาติดตั้งงานระบบวิศวกรรมไฟฟ้า โดยนางสาวโศภชา  ดำรุงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร เผยว่า มั่นใจว่าปี 62 รายได้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท และกำไรเติบโตทุกไตรมาส เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า โดยปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือรวมโซลาร์รูฟท็อป ประมาณ 600 เมกะวัตต์ และล่าสุดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มอีก 40 เมกะวัตต์จากโครงการโซลาร์ฟาร์มคิมิตสึ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้มีกำลังการผลิตที่ COD เป็น 400 เมกะวัตต์ ง

หวังคว้ากำลังผลิตปีนี้เพิ่ม 100 MW

โดยในปีนี้บริษัทเตรียม COD โซลาร์ฟาร์มที่ประเทศมาเลเซีย 30 เมกะวัตต์ โซลาร์รูฟท็อปประมาณ 60 เมกะวัตต์ ขณะที่โซลาร์รูปท็อปของกลุ่ม บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ที่โรงงานในประเทศกัมพูชา 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะได้ข้อสรุปการลงทุนในครึ่งปีหลัง 62

อย่างไรก็ตาม ในปี 62 บริษัทตั้งเป้ามีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 700 เมกะวัตต์ โดยอยู่ระหว่างเจรจาลงทุนโซลาร์ฟาร์มที่เวียดนาม ขนาดกำลังการผลิตราว 50 เมกะวัตต์ คาดจะได้ข้อสรุปการลงทุนเดือน ก.ค.62 ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์มที่มาเลเซียที่มีแผนจะลงทุนเพิ่ม ขนาดกำลังการผลิตราว 30 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างเจรจาจับมือกับพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมประมูล นอกจากนี้ ยังมีโอกาสขยายการลงทุนเพิ่มในไทย ตามแผน PDP 2018

เล็งประมูลงาน EPC อีก 5 พันล.

นอกจากนี้ ผลประกอบการในปีนี้ยังได้รับปัจจัยหนุนจากธุรกิจติดตั้งระบบวิศวกรรมไฟฟ้า (EPC) ในมือ (Backlog) ราว 7,000 ล้านบาท รวมงานโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ พื้นที่ 3 มูลค่า 5,000 ล้านบาทแล้ว คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ภายในเดือน พ.ค.62 นอกจากนี้ อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญางานรับเหมาก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าระบบ 115 KV ที่ อ.หาดใหญ่ มูลค่า 180 ล้านบาท

ขณะที่งานที่จะเตรียมเข้าประมูลในช่วงที่เหลือของปีนี้ มูลค่ารวมกว่า 5,000 ล้านบาท เช่น โครงการระบบสายเคเบิลใต้น้ำ (Submarine cable) เกาะสมุย มูลค่าโครงการ 1,700 ล้านบาท  และโครงการระบบสายเคเบิลใต้น้ำ เกาะเต่า มูลค่าโครงการ 1,400 ล้านบาท เกาะปันหยี 221 ล้านบาท งานติดตั้งระบบสายส่งไฟฟ้า และสถานีไฟฟ้าย่อยของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 1,300 ล้านบาท คาดว่าจะได้งานเข้ามาเพิ่มขั้นต่ำ 2,000 ล้านบาท