อันดับข่าวเด่นมิติหุ้นภาคบ่าย

160

อันดับที่ 1 TASCO มั่นใจผลงาน Q2/62 แข็งแกร่ง ลุ้นยอดขายยางมะตอยปี 62 แตะระดับ 1.9 ล้านตัน จ่อบุ๊กเงินชดเชยเหตุไฟไหม้

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด  (มหาชน) หรือ TASCO ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจัดการ เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 2/62 คาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/62 ที่ผ่านมา เนื่องจากราคาขายยางมะตอยเฉลี่ยปัจจุบันปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 425-430 เหรียญสหรัฐต่อตัน  ขณะที่ต้นทุนน้ำมันดิบในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ไม่สูง โดย TASCO จะมีน้ำมันดิบเข้ามาป้อนโรงกลั่นอย่างสม่ำเสมอเพื่อผลิตเป็นยางมะตอยจนถึงไตรมาส 3/62 ซึ่งจะช่วยสนันสนุนปริมาณขายในปี 62 กลับเข้าสู่ระดับปกติ 1.9 ล้านตันได้ตามแผน และจะส่งผลบวกต่อยอดขายในตลาดต่างประเทศ โดยคาดว่าช่วงไตรมาส 2/62 ยอดขายจะเติบโตสูง โดยเฉพาะประเทศจีน ออสเตรเลีย และมาเลเซีย

อันดับที่ 2 OSP อากาศร้อนหนุนเครื่องดื่้มขายดี กูรูคาดกำไรไตรมาส 2/62 โตต่อ จ่อออกสินค้าใหม่ มิ.ย.นี้ โบรกอัพเป้าราคาใหม่เป็น 32.50 บ.

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.โอสถสภา หรือ OSP ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค มีกลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มบำรุง โดยนักวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมิน จากบริษัทมีกำไรไตรมาส 1/62 ทำได้ดีกว่าคาด โดยมีกำไรสุทธิ 888 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.40% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ดังนั้นจึงปรับเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นในปี 62 เป็น 34.5% จากเดิมที่ 32.8% และปรับเพิ่มประมาณการกำไรปกติ ขึ้น 15% เป็น 3,605 ล้านบาท เติบโต 27.8% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยคาดกำไรปกติจะดีต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี  ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินไตรมาส 2/62 รับผลบวกจากอากาศร้อนช่วยหนุนการเติบโตของรายได้กลุ่มเครื่องดื่ม รวมทั้งยังมีแผนออกสินค้าใหม่อย่างต่อเนื่อง  ดังนั้น ฝ่ายวิจัยจึงยังแนะนำ “ซื้อ” OSP และปรับราคาเป้าหมายขึ้นเป็น 32.50 บาท จากเดิม 28 บาท

อันดับที่ 3 ASAP องค์กรใหญ่ป้อนดีลรถเช่า ดันQ2โตเด่น-รายได้พุ่ง30%

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น”รายงานว่า บมจ.ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ หรือ ASAP ทำธุรกิจรถยนต์ให้เช่า ภายใต้แบรนด์ เอแซ็ป (asap) โดย “นายทรงวิทย์ ฐิติปุญญา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยว่า แนวโน้มผลงานไตรมาส 2/62 จะเติบโตโดดเด่น เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/62 เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลวันหยุดสงกรานต์ทำให้ความต้องการใช้รถยนต์ให้เช่าระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้น  นอกจากนี้ บริษัทเริ่มให้บริการจองเช่ารถผ่านตัวแทนการท่องเที่ยวในระบบออนไลน์ หรือ Online Travel Agents (OTA) จำนวน 6 ราย ได้แก่ Booking.com, Expedia, Rentalcars.com, cartrawler, zuzuche.com และ Ctrip รวมถึงได้เปิดเคาร์เตอร์เพื่อให้บริการตามสนามบินต่างๆ 7 แห่ง ได้แก่ สนามบินภูเก็ต สนามบินเชียงใหม่ สนามบินเชียงราย สนามบินดอนเมือง สนามบินหาดใหญ่ สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา ดังนั้นมั่นใจว่า ธุรกิจรถเช่าระยะสั้นจะเติบโตต่อเนื่อง และถึงจุดคุ้มทุนในปีนี้

อันดับที่ 4 ORI ขึ้นแท่นบิ๊กอสังหาฯ หลังมูลค่าสะสมของการเปิดโครงการทะลุ 1 แสนล. โชว์ธุรกิจ New S Curve ดันรายได้แตะระดับ 30,000 ล้านในปี 65

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ หรือ ORI ผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร โดยนายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า จากการที่บริษัทเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ในทำเลศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภายในปีนี้บริษัทจะมียอดเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยมูลค่าสะสมมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งสถานะ Backlog คุณภาพ ณ สิ้นไตรมาส 1/62 สูงถึง 34,000 ล้านบาท ที่จะทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่องไปอีก 3 ปี ข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าสิ้นปี 62 สัดส่วนรายได้จากกลุ่มธุรกิจประเภทต่างๆ ของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่สัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจคอนโดมิเนียมอยู่ที่ 80% ธุรกิจบ้านจัดสรรอยู่ที่ 10% แต่ในปีนี้ รายได้จากธุรกิจบ้านจัดสรรขยับเพิ่มมาเป็น 15% และคาดว่าภาพรวมทั้งปีนี้ยังสามารถรักษาระดับกำไรขั้นต้นไว้ได้ที่ระดับ 40%

อันดับที่ 5 THAI ไตรมาส1/62 กำไร 456 ลบ. หดตัว 83.3% ขณะที่รายได้รวมทำได้กว่า 4.9 หมื่นลบ. ลดลง 6.9% เหตุรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง

ผู้สื่อข่าว (มิติหุ้น) รายงานว่า บมจ.การบินไทย หรือ THAI โดยนายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เผยว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2562 มีกำไรสุทธิ 456 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 2,281 ล้านบาท หรือคิดเป็น 83.3% มีรายได้รวมทั้งสิ้น 49,791 ล้านบาท ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 3,675 ล้านบาท หรือ 6.9% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินที่เป็นรายได้หลัก การแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารลดลง เนื่องจากปริมาณการผลิตลดลง  ส่วนค่าใช้จ่ายรวม 50,619 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 989 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.0% โดยมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจากการเปลี่ยนประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์ ค่าเช่าเครื่องบินและอะไหล่เพิ่มจากการรับมอบเครื่องบินเช่าดำเนินงานในระหว่างปี 2561 จำนวน 3 ลำ และการเช่าเครื่องยนต์อะไหล่เพิ่มขึ้น เป็นต้น

www.mitihoon.com