มิติหุ้น – TK จ่อเปิดไมโครไฟแนนซ์ 3 สาขาในเมียนมา หลังได้รับใบอนุญาต ตั้งเป้าสินเชื่อตปท.ปีนี้โตกว่า 100%
ผู้สื่อข่าว “มิติหุุ้น” รายงานว่า บมจ.ฐิติกร หรือ TK ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยนางสาวปฐมา พรประภา กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า บริษัทได้รับอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการไมโครไฟแนนซ์ในสหภาพเมียนมา ในนาม บริษัท Mingalaba Thitikorn Microfinance จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 1,520 ล้านจ๊าด หรือ 33 ล้านบาท ซึ่ง TK ถือหุ้นสัดส่วน 99.9% โดยได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการบริการไมโครไฟแนนซ์ จำนวน 3 สาขา ในมณฑลพะโค (Bago) หรือที่คนไทยรู้จักในนามหงสาวดี ห่างจากย่างกุ้ง ประมาณ 160 กม. เพื่อให้บริการทางการเงินกับลูกค้าในเมียนมา โดยจะเริ่มเปิดสาขาแรกภายในเดือนส.ค.นี้
ทั้งนี้ บริษัทมั่นใจเมียนมาคือประเทศยุทธศาสตร์ใหม่ในการขยายตัวของธุรกิจ TK ในระยะยาว จากเศรษฐกิจมีการเติบโตต่อเนื่อง จาก GDP ที่เติบโตเฉลี่ย 7.1% ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยบริษัทตั้งเป้าการเพิ่มสัดส่วนลูกหนี้สินเชื่อเช่าซื้อจากการดำเนินธุรกิจภายในประเทศและจากธุรกิจต่างประเทศเป็น 50:50 ภายในปี 2563
ด้านนายประพล พรประภา กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า เมียนมาเป็นประเทศที่ 3 ที่ TK ได้ขยายธุรกิจออกจากประเทศไทยไปต่างประเทศ จากการกำหนดเป้าหมายระยะยาวว่าธุรกิจจากต่างประเทศจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเติบโตทางธุรกิจของ TK โดยที่ตลาดในประเทศไทยจะยังคงมีบทบาทสำคัญในการสร้างฐานธุรกิจในอนาคตของ TK ซึ่งประเทศแรกที่ขยายออกไปคือกัมพูชา ขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว 6 สาขา และจะเปิดเพิ่มอีก 6 สาขาภายในปีนี้ ประเทศที่สองคือ สปป. ลาว โดยเปิดให้บริการแล้ว 3 สาขา ที่เวียงจันทน์ หลวงพระบาง และสะหวันนะเขต และภายในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 3 สาขาที่ปากเซ เชียงขวาง และอุดมชัย สำหรับในเมียนมา มีแผนจะเปิดบริการไมโครไฟแนนซ์ในช่วงแรก 3 สาขา โดยในสิ้นปี 2562 คาดว่าจะมีสาขาในต่างประเทศ 21 สาขา
ในส่วนของตลาดในประเทศ ไตรมาส 1/62 บริษัทมียอดขายรวม 462,205 คัน ลดลง 0.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ผลประกอบการในไตรมาส 1/62 มีรายได้เติบโต ประมาณ 2.3% จากประมาณ 957.7 ล้านบาท เป็น 979.7 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิ อยู่ที่ 112.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.9% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยยอดลูกหนี้เช่าซื้อรวมของ TK อยู่ที่ 9,000 ล้านบาท ลดลง 2.4% เมื่อเทียบกับสิ้นปีที่ผ่านมา เทียบกับยอดขายรถจักรยานยนต์ของประเทศที่หดตัว 0.6% เนื่องจากทางบริษัทเร่งตัดหนี้สูญตั้งแต่กลางปี 2561 จนถึงปัจจุบัน อีกทั้งนโยบายเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว โดยบริษัทจะประเมินเป้าหมายการขยายตัวในประเทศอีกครั้งหลังมีการจัดตั้งรัฐบาล
www.mitihoon.com