อันดับที่ 1 WHA ตุนที่ดินโซน EEC กว่า 10,000 ไร่ ส้มหล่นสงครามการค้าบานปลาย หนุนทุนใหญ่จีน – ต่างประเทศวิ่งเข้าหา
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA โดย นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ เปิดเผยว่า จากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ที่ยังไม่มีแนวโน้มถึงความชัดเจน และมีทีท่าจะรุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าที่อยู่ในรายละเอียดของการเก็บภาษีที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงทำให้ผู้ประกอบการหลายรายที่เป็นผู้ผลิตสินค้าย้ายฐานการผลิตมาในประเทศไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะจากประเทศจีน และประเทศอื่นๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งในขณะนี้ได้มีผู้เข้ามาติดต่อสอบถาม รวมถึงจองพื้นที่หลายไร่ของบิรษัทฯ เนื่องจากที่ดินที่มีอยู่ในมือนั้น มีศักยภาพและได้สิทธิประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจในระดับสูง
อันดับที่ 2 ARIN เตรียมถกบอร์ดหาข้อสรุปเข้าเทรด mai หลังเปลี่ยนตัวอันเดอร์ไรท์ฯ ยันธุรกิจยังเดินหน้าตามแผน
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. อรินสิริ แลนด์ หรือ ARIN ดำเนินธุรกิจพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในภาคตะวันออก โดย พล.ต.อ.วีรพงษ์ ชื่นภักดี ประธานกรรมการบริษัท เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริษัทเตรียมนัดหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดทิศทางต่อไปในอนาคต หลังจากบริษัทได้เลื่อนเข้าเทรดในตลาด mai อย่างไม่มีกำหนด จากเดิมที่คาดว่าจะเข้าซื้อขายวันนี้ (23 พ.ค.) โดยยืนยันว่า การดำเนินธุรกิจทุกอย่างยังเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และขณะนี้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนตัวผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้น (Underwriter) จากเดิมมี บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด จำกัด (มหาชน) เป็นผูัจัดการการจำหน่าย และรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ ARIN โดยคาดจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้
อันดับที่ 3 CHO มั่นใจผลงานปีนี้เทิร์นอะราวด์ เดินหน้าตุนแบ็คล็อกหนา 2.97 พันลบ.
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. ช ทวี หรือ CHO โดย นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของบริษัทเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นทำให้มั่นใจว่าปีนี้จะเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น เนื่องจากในไตรมาส 2/62 จะรับรู้รายได้จากการส่งมอบรถโดยสารปรับอากาศใช้เชื้อเพลิงธรรมชาติ(NGV) ให้กับองค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)ได้ครบจำนวน 489 คัน ทั้งนี้ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทฯได้รับเงินค่ารถครบตามสัญญาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้มีรายได้ในส่วนดังกล่าวเข้ามาแล้ว ขณะเดียวกันบริษัทฯจะมีรายได้จากค่าซ่อมบำรุงรถเมล์ NGVรุ่นใหม่ ซึ่งจะรับรู้ระยะยาว 10 ปี น่าจะช่วยสนับสนุนให้มีรายได้เติบโตสม่ำเสมอ
อันดับที่ 4 RATCH ปรับกลยุทธ์หนุนโต ขยายฐานจากไฟฟ้าสู่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซุ่มคุยพันธมิตรลงทุนโรงไฟฟ้าพื้นที่ตะวันตก 2 โรง 1,400 เมกะวัตต์ คาดเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าได้ไตรมาส 2 นี้ เล็งร่วมประมูลงานรถไฟฟ้า-มอเตอร์เวย์
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. ราช กรุ๊ป หรือ RATCH ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า โดยนายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เผยว่า บริษัทได้ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ ขยายฐานการเติบโตจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าไปยังระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน รองรับโอกาสการลงทุนภายในประเทศจากแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนยุทธศาสตร์ด้านพลังงาน และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ (พีดีพี 2018) ทั้งนี้ บริษัทยังคงกำหนดให้ธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นธุรกิจหลัก และบริษัทมั่นใจในศักยภาพความพร้อมที่จะลงทุนตามแผนพีดีพี ฉบับใหม่ตั้งแต่ปี 61-80 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกิจการของบริษัทให้บรรลุเป้าหมายที่ 200,000 ล้านบาทในปี 66 ส่วนการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ตั้งเป้าว่าในปี 66 จะมีสัดส่วนการลงทุนประมาณ 20% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด
อันดับที่ 5 TKS ปลื้ม Q1/62 กำไร 130 ลบ. รายได้โตสนั่น 109% หลังรับรู้รายได้จาก TBSP ล่าสุดคว้างานแสตมป์และงานพิมพ์ข้อสอบหน่วยงานราชการ หนุนทั้งปีโตแกร่ง
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. ที.เค.เอส.เทคโนโลยี หรือ TKS ผู้ประกอบการธุรกิจ Security Printing ครบวงจรรายใหญ่ของประเทศ โดยนายสมคิด เวคินวัฒนเศรษฐ์ กรรมการผู้จัดการ เผยว่า ผลประกอบการในงวดไตรมาส 1 ปี 2562 (1 ม.ค.-31มี.ค. 2562) บริษัทฯมีรายได้รวม 654 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 341 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 109% จากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการรวมธุรกิจของ บมจ. ทีบีเอสพี หรือ TBSP เมื่อวันที่ 4 เม.ย.2561 แต่หากไม่นับรวมรายได้ใน TBSP บริษัทจะมีรายได้จากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 64 ล้านบาท หรือ 20.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน