หลังจากมีกระแสข่าวว่าสหรัฐฯ จะเพิ่มจำนวนประเทศในรายชื่อที่ถูกเพ่งเล็งด้านการปั่นค่าเงินให้อ่อนเกินจริงในรายงานฉบับใหม่ที่จะออกมาในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งประเทศที่เพิ่มเข้ามาอาจจะรวมถึงไทยด้วยนั้น ได้สร้างความกังวลต่อตลาดไม่น้อย โดยเฉพาะความเสี่ยงที่ทางการไทยอาจเผชิญแรงกดดันให้ปล่อยค่าเงินบาทแข็งค่า แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยืนยันว่าไทยไม่ได้แทรกแซงค่าเงินเพื่อความได้เปรียบทางการค้า โดยธปท.ระบุว่าได้มีการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้แทนสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมาก็ตาม ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์บ่งชี้ว่าไทยเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ราว 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2561 อย่างไรก็ตาม หากมองจากจุดยืนของธปท. เราจะได้รับการสื่อสารมาโดยตลอดว่า การเข้าดูแลตลาดอัตราแลกเปลี่ยนนั้นจำเป็นสำหรับการลดความผันผวนของค่าเงิน ไม่ได้เป็นการดำเนินการเพื่อฝืนกลไกตลาด ยิ่งไปกว่านั้น นับตั้งแต่สิ้นปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เงินบาทแข็งค่าถึง 11% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ (กราฟด้านล่าง) ซึ่งทำให้ข้อโต้แย้งที่ว่าไทยพยายามทำให้เงินบาทมีค่าต่ำเกินจริงเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออกจึงไม่ถูกต้องนัก
ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2562 เติบโต 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 1.0% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นอัตราการเติบโตที่ช้าที่สุดในรอบกว่า 4 ปี ขณะที่สภาพัฒน์ชี้แจงว่ามีผลกระทบบางส่วนจากฐานที่สูงในไตรมาสแรกปี 2561 อีกทั้งในไตรมาสแรกปีนี้เป็นช่วงการเลือกตั้งทำให้ทุกภาคส่วนรอดูปัจจัยการเมือง โดยสภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2562 เป็นขยายตัวในช่วง 3.3-3.8% จาก 3.5-4.5% และปรับลดประมาณการส่งออกเป็นเติบโต 2.2% จากเดิม 4.1% อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์มองว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังจะค่อยๆ ฟื้นตัว ส่วนหนึ่งเป็นผลบวกจากงบประมาณปี 2563 ซึ่งจะเข้าสู่กระบวนการรัฐสภา
เป็นที่ชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะภาคส่งออกกำลังอยู่ท่ามกลางมรสุมการค้าโลก ซึ่งไม่เพียงแต่เข้าสู่ภาวะชะลอตัวตามวัฎจักรเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นข้อพิพาททางการค้าซึ่งในระลอกนี้ดูเหมือนว่าจะขยายวงไปไกลว่าการตอบโต้ด้วยภาษีศุลกากรเลยทีเดียว ทั้งนี้ องค์การการค้าโลก (WTO) เปิดเผยว่าการค้าสินค้าทั่วโลกอาจซบเซาต่อไป โดยเครื่องบ่งชี้แนวโน้มรายไตรมาสอยู่ที่ระดับต่ำสุดรอบ 9 ปี WTO คาดว่าการค้าโลกจะเติบโตราว 2.6% ในปีนี้ ขณะที่ความเสี่ยงหลักคือกรณีสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น หรือการที่สหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคต อาจฉุดอัตราการเติบโตของการค้าโลกเหลือแค่ 1.3% เท่านั้น เมื่อพิจารณาประเด็นไทยอาจติด Watch List ของสหรัฐฯ นอกจากตรรกะจะไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทซึ่งแข็งค่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว (แม้ทุนสำรองของไทยจะเพิ่มขึ้นจากการซื้อดอลลาร์เพื่อลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนในบางช่วงเวลา) ถือว่าจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมภาคส่งออกไทยอีกทางหนึ่ง จริงอยู่ ที่มูลค่าส่งออกเคยเติบโตได้สูงแม้เงินบาทแข็งค่าเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาค เช่นในปี 2560 แต่นั่นเป็นเพราะอุปสงค์ต่างประเทศอยู่ในภาวะสดใส ตรงกันข้ามกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งบรรยากาศการค้าโลกอึมครึมและมีความไม่แน่นอนสูง
Source: Reuters, * ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 21 พ.ค.
โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
www.mitihoon.com