ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า 22 แบงก์พาณิชย์ไทยและต่างประเทศ ร่วมสร้างโครงข่ายหนังสือค้ำประกันแบบอิเล็กทรอนิกส์ 100% โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ผ่านบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด โดยดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ความร่วมมือภายใต้ Thailand Blockchain Community Initiative มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการศึกษาเทคโนโลยี Blockchain และนำมาพัฒนาเป็นบริการที่จับต้องได้จริงในภาคการเงินและภาคธุรกิจ ซึ่งเริ่มต้นจากธนาคารพาณิชย์ 14 ราย ร่วมกับรัฐวิสาหกิจ และธุรกิจขนาดใหญ่ในปีที่แล้ว
โดยปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์เข้าร่วมเพิ่มเติมเป็น 22 ราย และมีการจัดตั้งบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนระบบบล็อกเชนเป็นบริการแรก นับว่าเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือ และขยายชุมชน Blockchain ของไทยให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง สามารถรองรับบริการที่หลากหลายในอนาคต และช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ จากการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน (shared infrastructure) และเทคโนโลยี Blockchain ร่วมกัน ซึ่งจะสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ไม่เฉพาะต่อภาคการเงินของไทย แต่จะมีประโยชน์โดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนและการให้บริการของภาครัฐด้วย
ด้านนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย และประธานกรรมการ บริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยก็เริ่มใช้บล็อกเชนในทางธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสะดวก ปลอดภัย สามารถลดการจัดการเอกสารที่เป็นกระดาษได้มาก และเพื่อยกระดับความร่วมมือ Thailand Blockchain Community Initiative อย่างเป็นรูปธรรม จึงร่วมกันจัดตั้งบริษัท บีซีไอ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นความร่วมมือระดับประเทศของสถาบันการเงินและองค์กรต่าง ๆ ในการศึกษา พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสร้างบริการที่ทันสมัยภายใต้การกำกับดูแลที่ดี ด้วยการเชื่อมต่อทุกธนาคารที่เข้าร่วมด้วยแพลทฟอร์มเดียวกัน เพื่อพัฒนาและต่อยอดระบบให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและผลักดันเทคโนโลยีให้เข้าถึงทุกกลุ่มธุรกิจ เสริมประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับการแข่งขันให้กับธุรกิจและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ บริการหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชนนี้จะเริ่มใช้งานในเดือนมิถุนายนนี้ ภายใต้การทดสอบใน Regulatory Sandbox ของ ธปท. และสามารถรองรับองค์กรที่เป็นผู้รับหนังสือค้ำประกันเพิ่มได้ในไตรมาส 3 และในอนาคตจะมีการพัฒนาบริการอื่น ๆ บนเทคโนโลยีบล็อกเชนเพิ่มขึ้นด้วย โดยตั้งเป้าเพิ่มการใช้งานหนังสือค้ำประกันอิเล็กทรอนิกส์บนบล็อกเชนเป็น 50% ของหนังสือค้ำประกันทั้งประเทศ ภายใน 3 ปี จากมูลค่าหนังสือค้ำประกันผ่านระบบสถาบันการเงินไทยทั้งภาครัฐและเอกชนกว่า 1.35 ล้านล้านบาท จำนวนมากกว่า 500,000 ฉบับต่อปี