นางสาวอภิวันท์ บากบั่น ผู้อำนวยการ – ทรัพยากรบุคคล บมจ.บัตรกรุงไทย หรือ KTC เผยว่า เคทีซีเป็นสถาบันการเงินที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้โอกาสทางการศึกษา และสนับสนุนการให้ความรู้กับคนในสังคม โดยเฉพาะการร่วมพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยให้มีคุณภาพอย่างไม่มีขีดจำกัด ผ่านการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ด้วยเป้าหมายของการนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ต่อยอดในด้านต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Sustainable Development Goals–SDGs) รวม 3 เป้าหมาย ได้แก่ 1.การให้การศึกษาที่เท่าเทียม(Quality Education) 2.การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-Being) 3.การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production)
ทั้งนี้ KTC ได้ริเริ่มโครงการ CSR ประจำปี 2562 “เรียนรู้ ต่อยอด ยั่งยืน” เพื่อร่วมเตรียมพร้อมให้นักเรียนรู้จักการพึ่งพาตนเอง โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องความบกพร่องทางกายเป็นอุปสรรค โดยได้รับความร่วมมือที่ดีจากโรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ บรรจุโครงการนี้ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ซึ่งน้องๆ จะได้เรียนรู้ทฤษฎีและฝึกปฏิบัติการเกษตรเพื่อนำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาและต่อยอดสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และบริหารการใช้จ่ายเพื่อการใช้ชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืน อีกทั้งรู้จักถ่ายทอดแบ่งปันให้กับสังคม
โดยได้เลือกกระบวนการเพาะเห็ดออร์กานิคครบวงจร เพื่อทำกินและสร้างอาชีพเป็นโครงการนำร่อง โดยเริ่มตั้งแต่การเรียนรู้ชนิดของเห็ด กระบวนการเพาะเห็ด การแปรรูปเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวัน ทำให้โรงเรียนประหยัดค่าใช้จ่าย รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดสร้างอาชีพสร้างรายได้ ตลอดจนส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักบริหารการใช้จ่าย และเรียนรู้การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เพื่อใช้ในชีวิตจริงให้เกิดประโยชน์กับตนเองและครอบครัว สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอน รวม 12 สัปดาห์ จะมีวิทยากรให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากฟาร์มเห็ดโพธิ์ทอง อาจารย์โรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ และเคทีซี โดยจะมีการประเมินความรู้ก่อนและหลังเรียนรวมทั้งเปิดเวทีให้น้องๆ นำเสนอผลงานในสัปดาห์สุดท้าย
ด้านอาจารย์สายใจ สังขพันธ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ครงการ CSR ครั้งนี้ เน้นการออกแบบกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ฝึกทักษะสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ในรูปแบบ “เรียนรู้ ต่อยอด ยั่งยืน” เชื่อมโยงกับการจัดการเรียนการสอนบูรณาการแบบโครงงานเพาะเห็ดในโรงเรียน นักเรียนจะได้ฝึกปฏิบัติจริงลงพื้นที่จริงกับวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญ และอาจารย์จะร่วมถ่ายทอดด้วยภาษามือ เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพของนักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ซึ่งจะเรียนรู้ได้ดีจากการมองเห็นและสัมผัสจริง
ขณะที่นางสาวฐิติรัตน์ พ่วงโพธิ์ทอง เจ้าของ “ฟาร์มเห็ดโพธิ์ทอง” เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญด้านการเขี่ยเชื้อเห็ดและการเพาะเห็ด กล่าวถึงกระบวนการเพาะสายพันธุ์เห็ดเศรษฐกิจ การต่อยอดทางอาชีพตามวิถีเกษตรพอเพียงว่า “จากประสบการณ์การทำงานและอยู่ในกระบวนการเพาะเห็ดอย่างครบวงจรมามากกว่า 30 ปี ตลอดจนทำการแปรรูปเป็นอาหารคาว-หวานและเครื่องดื่ม ซึ่งนำมาสู่การต่อยอดเป็นอาชีพตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ครั้งนี้จึงมีความรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพาะเห็ดต่อยอดอย่างยั่งยืน