5 อันดับข่าวเด่นมิติหุ้นภาคบ่าย

163

อันดับที่ 1 ACG เคาะราคา IPO 1.44 บ.ต่อหุ้น จองซื้อ 19-21 มิ.ย. พร้อมเทรด mai 27 มิ.ย.นี้ ลุยขยายสาขาอีก 6 แห่ง

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. ออโตคอร์ป โฮลดิ้ง หรือ ACG โดยนายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาการเงินและผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ACG เผยว่า บริษัทได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามาญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 156 ล้านหุ้น โดยมีราคาเสนอขาย 1.44 บาทต่อหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท โดยจะเปิดจองซื้อวันที่ 19-21 มิ.ย.นี้ คาดจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 27 มิ.ย.นี้ ในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม (หมวดยานยนต์)สำหรับการเสนอขายหุ้นไอพีโอครั้งนี้  บริษัทได้แต่งตั้ง บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เป็นผู้จัดการการจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย โดยมีผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย 5 แห่ง ได้แก่ บล.โกลเบล็ก, บล.เคจีไอ (ประเทศไทย), บล.เคทีบี (ประเทศไทย), บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) และ บล.ไอร่า

อันดับที่ 2 IFEC ส่งหนังสือถึง ตลท.-ก.ล.ต. ของดเว้นการซื้อขายชั่วคราวสำหรับหุ้น SP เร่งแก้ปัญหานอก-ในก่อน หวั่นกระทบผู้ถือหุ้นวงกว้าง

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC โดย นายทวิช เตชะนาวากุล ประธานกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เผยถึงการดำเนินการขอจดทะเบียนเปลี่ยงแปลงกรรมการและอำนาจกรรมการในบริษัทย่อย ขณะนี้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้รับเอกสารคำขอดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว และอยู่ในขั้นตอนทางกฎหมายของทางนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทในการรับจดทะเบียนทั้ง 16 บริษัท (บริษัทถือหุ้นโดยทางตรง) สำหรับกรณีที่มีการขายทอดตลาดหุ้นและที่ดินของบริษัทย่อย 2 แห่งที่ผ่านมา เรื่องดังกล่าวนี้เป็นปัญหาที่อดีตกรรมการและผู้บริหาร และขณะนี้บุคคลดังกล่าวยังเป็นกรรมการในบริษัทย่อยดังกล่าวด้วย ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันกับผู้ถือหุ้นกู้บางราย เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2561

อันดับที่ 3 BBL ลุ้นกำไร Q2/62 พันลบ. รายได้ค่าธรรมเนียมฟื้นตัวจากแบงก์แอสชัวร์รันส์

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL คาดหวังผลประกอบการฟื้นตัวแข็งแกร่งมากที่สุดในกลุ่ม โดยนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความกังวลต่อคุณภาพสินทรัพย์ของ BBL เริ่มผ่อนคลายลง หลังจากที่คุณภาพสินทรัพย์ทรงตัวติดต่อกันมา 3-4 ไตรมาส จากความสามารถในการบริหารจัดการ NPL ให้ลดลงจากกลุ่มเสี่ยงหลักคือสินเชื่อธุรกิจและ SME โดยสัดส่วน NPL ของสินเชื่อกลุ่มนี้ลดลงจาก 8% ในกลางปี 2560 เหลือประมาณ 6% ในปัจจุบัน นอกจากนี้ จากการที่ BBL มีการร่วมมือกับ AIA ด้วยการเป็นนายหน้าประกันได้มีการออกผลิตภัณฑ์ประกันร่วมกันแล้วในช่วงต้นปี 62 โดยออกจำหน่ายตามสาขาของธนาคารทั่วประเทศ รายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นจากผลิตภัณฑ์ใหม่นี้จะช่วยหนุนรายได้ค่าธรรมเนียม และการบริการให้เติบโตได้ประมาณ 5% ซึ่งมากพอที่จะช่วยชดเชยค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่ลดลงประมาณ 15% ได้

อันดับที่ 4 JKN โบรกฯ คาดปีนี้กำไรโตเด่น 19% ดีกว่าอุตสาหกรรม ขณะที่รายได้ลุ้นทะลุ 1.6 พันล้านบาท แนะ “ซื้อ” เป้า 11.90 บาท

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) แนะนำ “ซื้อ” สำหรับ บมจ. เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย หรือ JKN โดยมีราคาเป้าหมายที่ 11.90 บาท ด้วยแนวโน้มกำไรที่เติบโตโดดเด่นกว่าอุตสาหกรรมโฆษณาที่คาดเติบโตในระดับต่ำ จากการรุกตลาดต่างประเทศ และเพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ  นอกจากนี้ JKN มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง มี DE Ratio เพียง 0.63 เท่า โดย JKN เป็นเป็นผู้นำในตลาดคอนเทนต์รายใหญ่ ที่มีศักยภาพเติบโตสูง ซึ่งกำลังก้าวสู่ตลาดสากล และแม้ผลกระทบจากการที่ 7 ช่องทีวีคืนช่องจะกระทบลูกค้า  2 ราย แต่บริษัทสามารถหาลูกค้าอื่นมาแทน และเพิ่มรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ CNBC ปัจจุบันมี Backlog ในมือกว่า 709 ล้านบาท  ซึ่งประมาณการกำไรปี 2562 เติบโต โดดเด่น  19% ดีกว่าอุตสาหกรรมโฆษณาที่คาดว่าเม็ดเงินโฆษณาจะเติบโตในระดับต่ำ 1–2%

อันดับที่ 5 บล.โกลเบล็ก จับตาประชุม กนง.-เฟดกลางสัปดาห์นี้ แนะกลยุทธ์ลงทุนหุ้น ติดโผ SET50 – หุ้น Theme EEC

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บล.โกลเบล็ก หรือ GBS โดย น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย เผยว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยตอบรับปัจจัยบวกจากในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะการรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสหกรรมในเดือนพ.ค.ปรับเพิ่มขึ้นจากยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ และคาดว่าจะเห็นรัฐบาลใหม่เร่งรัดลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ช่วยเอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจีนอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือปรับลดอัตราสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) เร็วๆ นี้ เพื่อรับมือภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนปัจจัยลบที่ยังคงกดดันตลาดหุ้นไทยมาจากการระงับข้อพิพาทการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนยังไม่มีความชัดเจน  ขณะที่รมว.พาณิชย์สหรัฐคาด “ทรัมป์-สี จิ้นผิง” อาจไม่มีการทำข้อตกลงการค้าในการประชุม G20  และอินเดียประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 28 รายการมีผล 16 มิ.ย.

www.mitihoon.com