อันดับที่ 1 SAMART ลุ้นฮุบงานใหญ่ในอีก 1 เดือนข้างหน้า โชว์ Backlog กว่า 1 หมื่นล.หนุนผลงาน Q2/62 พลิกกำไร
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. สามารถคอร์ปอเรชั่น หรือ SAMART โดยนายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมเข้าเซ็นสัญญารับงานใหม่อีกหลายโครงการตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ ทั้งในส่วนของ SAMART และบมจ.สามารถเทลคอม หรือ SAMTEL โดยในช่วง 1-2 สัปดาห์ข้างหน้าจะมีการลงนามสัญญางานด้านไอทีของหน่วยงานภาครัฐ มูลค่าราว 500 – 600 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทคาดว่าในช่วง 1 เดือนข้างหน้าจะมีการเข้าประมูลงานใหญ่ และน่าจะเป็นงานขนาดใหญ่ที่สุดของปีนี้ ซึ่งมีมูลค่ารวมหลายพันล้านบาท โดยเป็นงานเกี่ยวกับระบบซีเคียวริตี้ และบริษัทมั่นใจว่ามีโอกาสที่จะได้รับงานดังกล่าว ซึ่งจะเป็นงานที่เป็นสัญญาระยะยาวประมาณ 4-5 ปี
อันดับที่ 2 TOA แจ้งใช้งบ 157.42 ล. ซื้อแผ่นยิปซั่มจาก ‘ยิปมั่นเทค’ จัดจำหน่าย หวังเจาะฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ มากขึ้น
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) หรือ TOA ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สีและสารเคลือบผิวให้กับกลุ่มผู้ใช้งานประเภทลูกค้าทั่วไป โดยนายจตุรภัทร์ ตั้งคารวคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า บริษัทอนุมัติเข้าทำรายการที่เกี่ยวโยงกันในการซื้อแผ่นยิปซั่มภายใต้ตราสินค้าที่ผลิตโดย บริษัท ยิปมั่นเทค จำกัด (ซึ่งไม่รวมกับแผ่นยิปซั่มภายใต้ยี่ห้อ TOA Gymsum ที่บริษัทได้ว่าจ้างให้ยิปมั่นเทคเป็นผู้ผลิตให้แก่ลริษัทแบบ OEM) เพื่อทำการตลาดและจัดจำหน่ายให้กับลูกค้าทั่วไป โดยคิดราคาแบบ Cost Plus ในวงเงินไม่เกิน 157.42 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ระยะเวลาตั้งแต่ 1 ก.ค.- 31 ธ.ค.62
อันดับที่ 3 CRANE ไตรมาส 2 ฟื้นตัว ปีนี้มั่นใจรายได้เกิน1,000 ลบ.
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ชูไก หรือ CRANE ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้าง โดยนายชัยรัตน์ โกวิทมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดเผยว่า ช่วงเดือน พ.ค. 62 บริษัทมียอดขายรถเครนกว่า 135 ล้านบาท และเริ่มเข้าพื้นที่งานก่อสร้างโยธาได้มากขึ้น ส่งผลให้มีศักยภาพในการทำงานและส่งมอบงานได้มากขึ้น โดยสามารถรับรู้เป็นรายได้กว่า 310 ล้านบาท จากยอดงานในมือ (Backlog) 870 ล้านบาท และยังคงเหลืองานในมืออีก 560 ล้านบาท คาดว่าจะรับรู้หมดในปีนี้ ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง 62 บริษัทอยู่ระหว่างการติดตามงานฐานราก (เสาเข็มเจาะ) 11 โครงการมูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท โดยพิจารณาว่าจะรับงานโครงการใดบ้าง เช่น ทางด่วนพระราม3 รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจบุรี เป็นต้น ซึ่งมีศักยภาพรับงานได้กว่า 2,000 ล้านบาทที่จะทำให้รับรู้เป็นรายได้ถึง 3 ปี
อันดับที่ 4 ANAN มั่นใจผลงานโตเด่นตามเป้า ครึ่งปีแรกตุน Backlog กว่า 3.7 หมื่นลบ. ทยอยรับรู้ถึงปี 64 ขณะที่เซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ หนุนสร้างรายได้ประจำต่อเนื่อง คาดปี 65 ทำได้กว่า 1,800 ลบ.
ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ หรือ ANAN โดย ดร. ชัยยุทธ ชุณหะชา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน เผยว่า บริษัทมั่นใจผลงานโดดเด่นเป็นไปตามเป้าที่วางไว้แน่นอน หลังผลประกอบการไตรมาส 1/2562 มีกำไรสุทธิเป็นจำนวน 232 ล้านบาท เติบโต 61% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากกำไรที่แข็งแกร่งจากโครงการร่วมทุน ส่วนยอดโอนกรรมสิทธิ์มีจำนวน 5,631 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 39% และเพิ่มมากขึ้น 47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และยอดขายมีจำนวน 4,815 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 19% เชื่อผลงานครึ่งปีหลังเติบโตกว่าครึ่งปีแรก จากการเปิดตัวโครงการที่มากขึ้น พร้อมพัฒนาโครงการเซอร์วิส อพาร์ทเม้นท์ หนุนสร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง
อันดับที่ 5 3 หุ้นสื่อสารถูกมัดมือประมูลคลื่น 700 Mhz
มิติหุ้น-ความเคลื่อไหวราคาหุ้น3 ค่ายมือถือล่าสุด(11.37 น.) พบ TRUE หรือ ทรู คอร์ปอเรชั่น เด้งแรงสุดบวก 3.77 % อยู่ที่ 5.5 บาทรองลงมาคือ ADVANC หรือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ล่าสุด(11.37 น.)อยู่ที่ 203 บาท +1.51 % ส่วน DTAC หรือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น อยู่ที่ 50.75 บาท -2.4 % ฝ่ายวิจัย บล.ธนชาตระบุว่า ADVANC -DTAC เข้าร่วมการจัดสรรคลื่นความถี่คลื่น 700MHz เช้านี้ และคาดว่า TRUE จะยื่นเข้าร่วมภายในเที่ยงวันนี้ โดยมองการเข้าร่วมการจัดสรรคลื่น 700MHz แลกกับการขยายเวลาจ่ายค่าคลื่น 900MHz เป็นปัจจัยบวกต่อ มูลค่าพื้นฐานของ ADVANC TRUE ขณะที่มองเป็นปัจจัยลบต่อมูลค่าพื้นฐานของ DTAC ทั้งนี้เรามองกลุ่มสื่อสารเป็นกลุ่มที่ผลการดำเนินงานมีความผันผวนไม่มาก และให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลน่าสนใจ ดังนี้ Expected Dividend Yield 2018 คือ INTUCH 4.4% , ADVANC 3.8% , DTAC 3.8%