อาถรรพ์เลข 7 ไม่ใช่เรื่องหยวนๆ
โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
ภาพรวมข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของจีนยังคงบ่งชี้ถึงแนวโน้มที่น่ากังวล โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมเติบโตในอัตราต่ำที่สุดในรอบกว่า 17 ปี สะท้อนกิจกรรมภายในประเทศที่ยังไม่มีสัญญาณกระเตื้องขึ้น การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้พลาดเป้า ส่วนยอดขายอสังหาริมทรัพย์ลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ซึ่งเป็นผลของภาคการผลิตที่ซบเซา และสถานการณ์ดังกล่าวเพิ่มการคาดการณ์ของตลาดที่ว่าจีนต้องออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมในระยะถัดไปเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจขาลง
ท่ามกลางแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐฯ ที่หนักข้อมากขึ้นและการสื่อสารเพื่อต้องการเข้าสู่โต๊ะเจรจาขาดความคงเส้นคงวา สำนักงานปริวรรตเงินตราของรัฐบาลจีน (SAFE) ยังแสดงความเชื่อมั่นว่าจีนสามารถรักษาเสถียรภาพค่าเงินหยวน โดยอ้างถึงระดับทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของจีนซึ่งอยู่ในปริมาณเหมาะสม รวมถึงจีนยังอยู่ในขั้นตอนเปิดเสรีบัญชีเงินทุน
ทางด้านธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า การลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) รอบสองทำให้มีเม็ดเงินระยะยาวเข้าสู่ระบบราว 1 แสนล้านหยวน โดย PBOC ยังอัดฉีดเม็ดเงิน 1.5 แสนล้านหยวนเข้าสู่ระบบผ่านกลไกตลาดเงินเพื่อรักษาระดับสภาพคล่องและทำให้ภาคเอกชนรับมือกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งนี้ การลดสัดส่วน RRR รอบ 3 จะมีผลบังคับใช้กลางเดือนกรกฎาคม
รัฐบาลสหรัฐฯ เพ่งเล็งการบริหารค่าเงินหยวนมาอย่างยาวนาน ในบริบทที่ว่าจีนจงใจใช้นโยบายค่าเงินอ่อน เพื่อความได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ โดยในปีนี้เงินหยวนยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม (กราฟด้านล่าง) ขณะที่เทรดเดอร์ตั้งข้อสังเกตว่า PBOC พยายามจำกัดขาลงของค่าเงินหยวนและต้องการจะทำให้หยวนทรงตัวก่อนการประชุมกลุ่มจี-20 ในวันที่ 28-29 มิถุนายนซึ่งเป็นเวทีที่ทั่วโลกให้ความสนใจเพื่อประเมินอุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ
โดยล่าสุดจีนไม่ยืนยันว่าประธานาธิบดี สีจิ้นผิง จะหารือนอกรอบกับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ในเวทีจี-20 เพื่อหาจุดร่วมในการลดความร้อนแรงของสงครามการค้าหรือไม่ ทั้งนี้ เรามองว่า ข้อพิพาททางการค้าและความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจปรับขึ้นอัตราภาษีเพิ่มเติมบนสินค้านำเข้าจากจีนจะกดดันเศรษฐกิจโลกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น หากจีนปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าทะลุระดับจิตวิทยาที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์ เปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่ตลาดการเงินทั่วโลกจะเผชิญความผันผวนระลอกใหม่