กรุงเทพฯ– บล.โกลเบล็ก มองหุ้นไทยตอบรับปัจจัยบวกจากแนวโน้มธนาคารกลางทั่วโลกส่วนใหญ่ส่งสัญญาณใช้มาตรการการเงินแบบผ่อนคลาย และการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนตลาดหุ้นไทยของ MSCI หนุนแรงซื้อต่างชาติไหลเข้า บวกกับราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น สร้างแรงเก็งกำไรหุ้นพลังงาน ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นมีความผันในกรอบ 1,690-1,735 จุด แนะจับตาสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐ-จีน หลังระงับ5บริษัทจีนทำการซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากสหรัฐ ด้านกลยุทธ์แนะลงทุนหุ้นได้อานิสงส์เงินบาทแข็งค่า และหุ้นติดโผ SET50–SET100-SETHD มีผลครึ่งหลัง 62 ด้านราคาทองแนะนำเล่นเก็งกำไรในกรอบ 1,380-1,410 ดอลลาร์ และปรับกลยุทธ์มาเล่น breakout follow เมื่อทะลุออกจากกรอบ
น.ส.วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยตอบรับปัจจัยบวกจากธนาคารกลางแต่ละประเทศมีแนวโน้มปรับมาใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ส่งสัญญาณจากการประชุมครั้งล่าสุดในเดือนมิ.ย. ทำให้ตลาดการเงินคาด FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนหน้า ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณว่าอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย หรือซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE หากเงินเฟ้อไม่ถึงเป้าหมาย และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เตรียมพิจารณานโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติมที่หลากหลายหากจำเป็นเพื่อเผชิญกับเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงขาลง
ประกอบกับสัญญาน้ำมันดิบ WTI พุ่งขึ้น 10% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจากความวิตกเกี่ยวกับการที่สหรัฐอาจโจมตีอิหร่าน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเส้นทางลำเลียงน้ำมันในตะวันออกกลาง ส่งผลบวกเชิงจิตวิทยาต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน และ การที่ดัชนี MSCI ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนตลาดหุ้นไทยจาก 2.5% เป็น 3% เมื่อปลายเดือนพ.ค.หนุนนักลงทุนต่างชาติพลิกซื้อสุทธิ YTD ราว 2.7 หมื่นล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา
ส่วนปัจจัยลบที่มีผลต่อการลงทุนต่อเนื่อง อาทิ สงครามการค้าสหรัฐฯและจีนมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศห้ามบริษัทจีนอีก 5 รายทำการซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากบริษัทของสหรัฐฯ โดยระบุว่ามีแนวโน้มอย่างมากที่จะกระทบต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ และละเมิดนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ
และมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนพ.ค. 62 ติดลบ 5.79% มากกว่าตลาดคาดที่ติดลบ 5% ส่งผลให้ภาพรวมภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วง 5 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) มูลค่าการส่งออก ติดลบ 2.70% ขณะที่สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีที่ 30.79 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อในสัปดาห์นี้ ทำให้สินค้าส่งออกของไทยลดความสามารถในการแข่งขันด้านราคา ยิ่งทำให้การส่งออกปีนี้มีโอกาสหดตัว
นอกจากนี้ยังคงต้องจับตาในวันที่ 24 มิ.ย. สหรัฐ เปิดเผย ดัชนีกิจกรรมเศรษฐกิจทั่วประเทศเดือนพ.ค. และดัชนีการผลิตเดือนมิ.ย. และ วันที่ 25 มิ.ย. ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยรายงานการประชุม, สหรัฐ เปิดเผย ราคาบ้านเดือนเม.ย. ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิ.ย. ยอดขายบ้านใหม่เดือนพ.ค. และดัชนีการผลิตเดือนมิ.ย. วันที่ 26 มิ.ย. ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4/2562 วันที่ 28 มิ.ย. ธปท. รายงานภาวะเศรษฐกิจไทย วันที่ 28-29 มิ.ย. การประชุมกลุ่มประเทศ G20 ที่ญี่ปุ่น และวันที่ 1 ก.ค. กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก)จัดการประชุม ส่วนวันที่ 2 ก.ค. ประเทศนอกกลุ่มโอเปก นำโดยรัสเซีย จะเข้าร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการขยายเวลาปรับลดการผลิตจนถึงสิ้นปีนี้ที่กรุงเวียนนา
ด้านนายสรรพกัณฑ์ ปัมทบริสุทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยยังมีแนวโน้มผันผวน คาดดัชนี SET จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,690 – 1,735 จุด โดยแนะนำกลยุทธ์ การลงทุนในธุรกิจที่ได้ประโยชน์ (Positive) ซึ่งเน้นทำธุรกิจในประเทศ นำเข้าวัตถุดิบและมีหนี้สินเป็นเงินดอลลาร์ เนื่องจากจะมีต้นทุนลดลงเมื่อคิดเป็นเงินบาทในการชำระค่าซื้อวัตถุดิบหรือชำระหนี้ ได้แก่ ธุรกิจเกษตร ธุรกิจเหล็ก ธุรกิจท่องเที่ยวขาออก แนะนำ TASCO, TOA, PTTEP, TOP และ EGCO และหุ้นเข้าใหม่ SET50 : SAWAD, OSP หุ้นเข้าใหม่ SET100 : JAS, JMT, OSP รวมทั้ง SETHD : BEAUTY, INTUCH, JMT, KCE มีผลครึ่งปีหลัง 2562
สำหรับแนวทางการลงทุนในทองคำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ราคาทองคำถูกหนุนให้ปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ US$1,400 จากการอ่อนลงไม่หยุดของสกุลเงินดอลลาร์ หลังจากที่ Fed ออกมาส่งสัญญาณว่าอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงภายในปีนี้เพื่อหนุนอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ที่ระดับเป้าหมาย 2% ซึ่งตลาดตีความว่าอาจมีการพิจารณาหยุดการลดงบดุลหรือกระทั่งการกลับมาทำ QE อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม การดิ่งลงของค่าเงินดอลลาร์ได้กดเงินบาทให้แข็งค่าหลุดระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์ จากภาวะเงินไหลเข้าทั้งในแง่เพื่อเก็งกำไรในตลาดเกิดใหม่และในฐานะที่เป็นทางเลือกหนึ่งของสินทรัพย์ปลอดภัย ซึ่งเป็นปัจจัยลบค่อนข้างมากต่อการปรับขึ้นของราคาทองคำในประเทศในสัปดาห์ที่ผ่านมา
ดังนั้น นักลงทุนจึงควรติดตามผลการประชุม กนง.ช่วงกลางสัปดาห์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญระหว่างการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อเปิดช่องไว้ในกรณีที่เศรษฐกิจเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยจริง หรือ การส่งสัญญาณเตรียมลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อเป็นเบาะรองรับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวจากสงครามการค้าโลกและเงินบาทที่แข็งค่ามากเกินไปที่ทำให้การส่งออกของไทยหดตัว
สำหรับมุมมองทางเทคนิคประเมินราคาทองคำสัปดาห์นี้มีจุดรับสำคัญอยู่ที่ 1,380 ดอลลาร์ ถ้าย่อลงมาแล้วยืนได้ ราคาจะกลับไปอยู่เหนือ 1,400 ดอลลาร์ เพื่อขึ้นต่อ แต่ถ้าย่อแล้วหลุด 1,380 ดอลลาร์ จะถือว่าจบรอบขาขึ้น การลงจะเป็นรูป double top ที่มีเป้าหมายช่วงรับอยู่แถว 1,340–1,350 ดอลลาร์ แนะนำเล่นเก็งกำไรในกรอบ 1,380-1,410 ดอลลาร์ และปรับกลยุทธ์มาเล่น breakout follow เมื่อทะลุออกจากกรอบดังกล่าว