SMPC แจงกรณีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-dumping) ถังแก๊ส

403

นายสุรศักดิ์ เอิบสิริสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) หรือ SMPC  ผู้ประกอบธุรกิจผลิตถังทนความดัน ผลิตภัณฑ์หลักเป็นถังสำหรับบรรจุแก๊สปิโตรเลียมเหลว (LPG) เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้ม และใช้เป็นแหล่งพลังงานรถยนต์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “SMPC”  เปิดเผยว่า  จากกรณีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ได้พิจารณาการนำเข้าถังแก๊สโพรเพนจากไทยและประเทศอื่นๆ เกิดขึ้น เหตุจากผู้ผลิตสินค้าถังแก๊สในสหรัฐฯ 2 ราย ได้ยื่นขอคำขอต่อกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ และคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯ  เพื่อขอให้เปิดการไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าถังแก๊ส (Anti-dumping) ที่นำเข้าจากไทย จีน และไต้หวัน ว่ามีการตั้งราคาขายที่ต่ำเกินควร

ปัจจุบันสหรัฐฯ มีการนำเข้าถังแก๊สโพรเพนจากจีนมูลค่า 89.80 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากไทย มูลค่า 14.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งบริษัท สหมิตรถังแก๊ส จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ส่งออกไทยรายเดียวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานที่ส่งออกถังแก๊สไปยังสหรัฐฯ ขณะที่แหล่งนำเข้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา และเกาหลีใต้

ถึงแม้ประเทศไทยจะถูกมาตรการทุ่มตลาด  (Anti-dumping: AD)  ที่ 10.77% แต่ประเทศจีนถูกเรียกเก็บมากกว่า  โดยจีนโดนทั้งมาตรการทุ่มตลาด ค่าภาษีศุลกากร (Custom duty) และภาษีตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duties: CVD)  รวมเป็น 62.91% – 242.50% ทำให้ไทยมีโอกาสเพิ่มขึ้น โดยดูได้จากยอดขายถังแก๊สโพรเพนที่ SMPC ส่งออกไปยังสหรัฐฯในไตรมาส1/62 ที่ผ่านมานั้น เพิ่มขึ้น 15%

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังคงรอการพิจารณาจากคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Commission) หรือ ITC ที่เป็นองค์กรอิสระของสหรัฐฯ คาดว่า น่าจะมีข้อสรุปประมาณวันที่ 1 สิงหาคม หากคณะกรรมการยืนยันว่ามีการละเมิดกฎการอุดหนุนราคา กระทรวงจะมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรใช้มาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด

“ทั้งนี้ SMPC มีกลยุทธ์การบริหารจัดการวัตถุดิบที่เชี่ยวชาญ และมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การบริหารจัดการดี ทำให้การตั้งราคาสินค้าเป็นไปอย่างสมเหตุสมผล ปัจจุบันบริษัทเป็นหนึ่งในผู้ผลิตถังแก๊สปิโตรเลียมเหลวชั้นนำของโลกด้วยกำลังการผลิตที่  10 ล้านใบต่อปี และปัจจุบันมีการส่งออกไปมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก  โดยมีสัดส่วนการส่งสินค้าไปตลาดต่างประเทศมากกว่า 90% ของยอดขาย อาทิ ประเทศในแถบทวีปเอเชีย ทวีปอาฟริกา และอเมริกา  เป็นต้น รวมทั้งกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนายังคงเป็นตลาดที่มีความต้องการถังแก๊สเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี  โดยมีรายรับที่เป็นเงินตราต่างประเทศจากการทำธุรกรรมด้านการค้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ  ยูโร และปอนด์เสตอร์ลิง  โดยในปีนี้บริษัทได้รุกขยายตลาดภูมิภาคใหม่ๆ เช่น ละตินอเมริกา เพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ ของบริษัทให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น  รวมถึงผลิตสินค้าที่เป็น High Value  เพื่อให้ยอดขายเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้  และตอบสนองความต้องการของตลาดได้มากขึ้น” นายสุรศักดิ์ กล่าว

 

www.mitihoon.com